ข้อสงสัยที่คาใจผู้บริโภคจำนวนมากในเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือ ตรารับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (Organic Certification) ที่มีอยู่มากมายนั้น น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเชื่อถือได้แค่ไหน
จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าอินทรีย์มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คำว่า อินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก (Organic)?ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดกันอย่างแพร่หลาย ทำให้หลายประเทศมีการกฏหมายควบคุมให้เฉพาะผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์เท่าจึงจะสามารถใช้คำว่า อินทรีย์ (organic) บนฉลากสินค้าได้ แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศไทย จึงทำให้ในท้องตลาดบ้านเรามีสินค้าที่เรียกตัวเองว่าเป็นอินทรีย์มากมายจนผู้บริโภคสับสน ดังนั้นการสร้างความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์อินทรีย์ให้กับผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เริ่มหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น
แต่เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีวิธีการและปัจจัยการผลิตที่หลากหลายแต่กต่างกันในแต่ละประเทศ หรือตามธรรมชาติแวดล้อมของพื้นที่ผลิต ทำให้แต่ละประเทศต่างต้องการสร้างระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของตัวเอง มาควบคุมระดับความเป็นอินทรีย์ของสินค้าที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่น จะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสุขภาพของประชากรในประเทศ หรือเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศตัวเองก็ตาม ส่วนภาคธุรกิจที่สนใจตลาดเกษตรอินทรีย์ และภาคประชาชนที่ห่วงใยการจะถูกเอาเปรียบจากภาคธุรกิจ ก็ต่างพยายามสร้างตรามาตรฐานมารับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตามขอบเขตวัตถุประสงค์ของตนเอง ทำให้ปัจจุบันในตลาดทั่วโลกมีตรามาตรฐานสำหรับรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์อยู่มากมายจนน่าสับสนสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ตัวอย่างด้านบนเป็นเพียงเศษเสียวของตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่มีใช้กันอยู่ทุกวันนี้
สำหรับในบ้านเรา เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฏหมายควบคุมการใช้คำว่า ผลิตภัณฑฺ์อินทรีย์ หรือ ผลผลิตอินทรีย์ (Organic Product) บนฉลากผลิตภัณฑ์อินทรีย์?ทำให้คำว่า “อินทรีย์” หรือ “ออร์แกนิก” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาดกันอย่างพร่ำำเพรื่อ จนทำให้ผู้บริโภคคนไทยสับสน ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่กล่าวอ้างกันนั้นเป็นอินทรีย์แท้จริงหรือไม่ และเพียงใด
ตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคทั่วไปพอจะมั่นใจได้ในความเป็นอินทรีย์ที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่จะซื้อ หรือซื้อไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคจึงควรทำความรู้จัดกับตรามาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่น่าเขื่อถือ หรือพอจะเชื่อถือได้ต่างๆ ?และเลือกซื้อสินค้าอินทรีย์ที่มีตรารับรองมาตรฐานอินทรีย์เหล่านั้นบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่แท้จริง
แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าตรามาตรฐานอินทรีย์อันไหน หรือของใครที่น่าเชื่อถือ หรือเชื่อถือได้แค่ไหน?
ถ้าดูกันแบบกว้างๆ การรับรองก็คล้ายๆ กับการค้ำประกัน การจะดูว่าหลักประกันหรือตรารับรองน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ต้องดูกันใน 3 ประเด็น?คือ
1. รับรองอะไร?หมายถึง ขอบเขตการรับรองครอบคลุมอะไรบ้าง
2. ใช้เกณฑ์มาตรฐานไหน?หมายถึง ข้อกำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของระบบงานอินทรีย์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจเพื่อให้การรับรองเข้มข้นมากน้อยขนาดไหน
3. ใครตรวจรับรอง?หมายถึง หน่วยงานที่เป็นผู้ตรวจรับรอง มีความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือในคุณภาพระบบงานการตรวจและออกใบรับรองมากน้อยแค่ไหน
เรามาดูกันที่ละประเด็น
รับรองอะไร
ปกติการตรวจสอบและรับรองเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เป็นการตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิต?ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ขอบเขต คือ
1. การตรวจสอบและรับรองการผลิต?หรือ?รับรองฟาร์ม?(พืชและสัตว์) เป็นการตรวจสอบและรับรอง?กระบวนการผลิตในฟาร์มอินทรีย์?ซึ่งมาตรฐานระดับสากลจะครอบคลุมตั้งแต่ แหล่งที่มาของ(เมล็ด)พันธุ์และปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยาป้องกันและรักษาโรค ฯลฯ) วิธีการใช้ปัจจัยการผลิต วิธีการดูแลรักษา วิธีการป้องกันการปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมถึงแหล่งผลิตแบบเคมีที่อยู่ข้างเคียง ตลอดไปถึงวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต คัดแยก ทำความสะอาด เก็บรักษาผลิตผล การบรรจุขาย (ภาชนะบรรจุ ฉลากกำกับ) และการจัดการระหว่างขนส่ง
2. การตรวจสอบและรับรองการประกอบการ?หรือ รับรองโรงงาน?เป็นการตรวจสอบและรับรอง ระบบการจัดการผลิตผลและกระบวนการแปรรูป?ซึ่งมาตรฐานระดับสากลจะครอบคลุมตั้งแต่ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ วิธีการจัดการกับวัตถุดิบ กรรมวิธีการแปรรูป การบรรจุ การเก็บผลิตภัณฑ์ก่อนขาย การขนส่ง และการจัดจำหน่าย (หมายเหตุ การสีข้าวถือเป็นการแปรรูปผลผลิต)
ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ต้องปฏิบัติตามข้อกำาหนดการตรวจรับรอง ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามขอบเขตและระบบมาตรฐานที่ขอรับรอง แต่มาตรฐานระดับสากลมีข้อกำหนดพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องปฏิบัติในทุกขั้นตอนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค?โดยต้องไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์หรือสมุนไพรต้องห้าม เน้นการป้องกันศัตรูพืชและรักษาโรคสัตว์โดยคำนึงถึงระบบนิเวศ (ไม่เพิ่มปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน เป็นต้น) มีการจดบันทึกกิจกรรมการผลิตในทุกขั้นตอน และเก็บรักษาข้อมูลเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) อย่างน้อย 5 ปี นอกจากนี้ยังรวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้างในฟาร์มหรือโรงงานอย่างเป็นธรรม และดำเนินงานอย่างสอดคล้องกับขนบประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย รวมแล้วก็คือเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเอาใจใส่ระหว่างมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกขั้นตอนนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการตรวจรับรองเกษตรอินทร์เป็นการตรวจรับรองระบบบริหารจัดการกระบวนการผลิต?(ควบคุมที่ต้นทาง)?ไม่ใช่การรับรองคุณภาพว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ปลอดจากสารเคมีตกค้างหรือไม่ (ควบคุมที่ปลายทาง) และยังเป็นข้อห้ามของระบบมาตรฐานอินทรีย์ระดับสากล ไม่ให้ใช้การรับรองมาตรฐานการผลิตอินทรีย์เป็นเครื่องมือในการโฆษณาคุณภาพสินค้าอีกด้วย
ดังนั้น ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองก็คือ ผลผลิตที่ได้มาจากกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในข้อกำหนดของมาตรฐานมีการกำหนดห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรทุกชนิด รวมทั้งสมุนไพรบางชนิด ตลอดจนต้องมีการพยายามป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากสภาพแวดล้อมอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้?
และเมื่อไม่มีการใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิต รวมทั้งมีวิธีการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากสภาพแวดล้อมด้วยแล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะมีสารเคมีตกค้างหรือปนเปื้อนในผลผลิตอินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง?หากยิ่งเป็นการตรวจรับรองจากหน่วยงานผู้ตรวจรับรองที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และด้วยเกณฑ์มาตรฐานอินทรีย์ระดับสากลด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีความน่าเชื่อถือได้ว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองเป็นอินทรีย์จริงแท้แน่นอน
โดยทั่วไป การรับรองจะมีอายุเพียง 1 ปี และต้องมีการต่ออายุใบรับรองใหม่เป็นรายปี ซึ่งหมายถึงการตรวจเยี่ยมฟาร์มและ/หรือสถานประกอบการเป็นประจำทุกปีเป็นอย่างน้อยหรือทุกครั้งที่สมัครขอต่ออายุใบรับรอง
ใช้เกณฑ์มาตรฐานไหน
ในระดับสากล เนื่องจากความแตกต่างของวิธีการและปัจจัยการผลิตที่หลากหลาย ตลอดจนผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องมากมาย หลายประเทศจึงมีข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของตัวเอง ทำให้มีระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ใช้กันอยู่มากมายหลายระบบ ทำให่้ยากที่จะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เดียวให้เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ?
ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) จึงได้จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขั้นพื้นฐาน (IFOAM Basic Standards) และเป็นที่ยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
สำหรับประเทศที่มีความก้าวหน้าหรือตื่นตัวกับอาหารและสินค้าอินทรีย์ จะเข้มงวดกับมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ที่วางขายในประเทศตนมากกว่าเกณฑ์พื้นฐาน และจะปรับเพิ่มข้อกำหนดในรายละเอียดจากเกณฑ์พื้นฐานของ IFOAM นี้ ทำให้เกณฑ์มาตรฐานของประเทศเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ?เกณฑ์มาตรฐานอินทรีย์ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นของประเทศผู้นำเข้าสินค้าอินทรีย์หลักๆ ในโลก เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่เนื่องจากข้อกำหนดมาตรฐานอินทรีย์ของประเทศเหล่านี้แตกต่างกันเพียงในรายละเอียดบางข้อ ทำให้ในระยะหลังประเทศต่างๆ ได้เริ่มยอมรับมาตรฐานของประเทศอื่นๆ ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเท่าเทียมและ/หรือสอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศตน?(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างในหัวข้อ?ตรามาตรฐานอินทรีย์ที่ควรรู้จัก)
สำหรับประเทศที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่กระแสอินทรีย์ มักจะมีเกณฑ์มาตรฐานที่ผ่อนปรนจากเกณฑ์มาตรฐานพื้นฐานของ IFOAM เพราะต้องลดระดับความเข้มข้นลงเพื่อให้เกษตรกรหรือผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นได้มีระยะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขข้อกำหนดของมาตรฐานอินทรีย์ เกณฑ์มาตรฐานอินทรีย์ของประเทศเหล่านี้จึงเป็นที่ยอมรับเฉพาะภายในประเทศตัวเอง หรือในประเทศที่มีระดับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกัน?
ในบางปะรเทศ องค์กรระดับท้องถิ่นยังมีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานระดับท้องถิ่นหรือมาตรฐานเฉพาะกลุ่มขึ้น ซึ่งอาจเข้มข้นมากกว่าหรือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับประเทศของตนเอง อย่างในประเทศไทย มีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับจังหวัด เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพชรบูรณ์ และ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เฉพาะพื้นที่ เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เกาะพะงัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังเริ่มมีกระแสส่งเสริมระบบการตรวจรับรองแบบชุมชนรับรอง หรือทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System – PGS) ซึ่งเป็นระบบที่สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ได้ร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศหลายแห่งพัฒนาขึ้น โดยเป็นระบบการรับรองที่สมาชิกในชุมชน หรือกลุ่มผู้ซื้อและกลุ่มผู้ผลิตมาตกลงกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้ร่วมกัน ?เกณฑ์บางข้ออาจเข้มข้นกว่าเกณฑ์พื้นฐาน ขณะที่บางข้ออาจผ่อนจากเกณฑ์พื้นฐาน หรือบางข้ออาจตัดออกเลยก็เป็นได้หากทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าไม่จำเป็น ?ถึงแม้โดยทั่วไป ระบบ PGS ส่วนใหญ่จะใช้กับกลุ่มผู้ซื้อและผู้ผลิตที่อยู่ในชุมชนเดียวกันหรือในประเทศเดียวกัน แต่ระบบนี้ไม่มีข้อจำกัดถ้ากลุ่มผู้ซื้อจะอยู่คนละประเทศกับกลุ่มผู้ผลิต เพียงแต่ระดับเกณฑ์มาตรฐานที่ตกลงร่วมกันต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าสินค้า เพื่อให้สามารถผ่านกฏระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าสินค้าอินทรีย์ของประเทศผู้นำเข้าได้นั่นเอง
สำหรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ – มกอช. (National Bureau of Agricultural Commodity and Food Standards – ACFS) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้จัดทำขึ้น ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ?มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 9000 เล่ม 1-2552) เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 : การผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เกษตรอินทรีย์?ซึ่งปรับปรุงจากฉบับปี พ.ศ. 2546 โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานทั่วไป (ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) รวมทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยมีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ประเทศไทย หรือ Organic Thailand เป็นตรารับรอง?(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างในหัวข้อ ตรามาตรฐานอินทรีย์ที่ควรรู้จัก)
การที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะเลือกขอรับรองด้วยระบบมาตรฐานใดหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับตลาดเป้าหมายว่าต้องการการรับรองของระบบมาตรฐานใด หากเป็นตลาดระดับท้องถิ่นหรือกลุ่มเฉพาะที่ผู้ซื้อพอจะรู้จักมักคุ้นกับผู้ผลิตหรือผู้ขาย หรือสามารถเชื่อใจในผู้ผลิตหรือผู้ขายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีคนนอกมารับรองมาตรฐานการผลิตให้ เช่น สินค้าอินทรีย์ของกลุ่มอโศกที่ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นเพราะเชื่อว่าชาวอโศกถือศีล 5 จึงไม่โกหกหลอกลวง หรือสินค้าในร้านเลมอนฟาร์มที่สามารถวางใจได้ว่าทางร้านทำหน้าที่คัดสรรสินค้าอินทรีย์ของแท้มาให้ เป็นต้น
แต่ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่รู้จักผู้ผลิต ก็ต้องอาศัยบุคคลที่ 3 หรือหน่วยงานภายนอกที่เป็นกลางมาช่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตให้ เนื่องจากการรับรองแต่ละระบบมาตรฐานมีค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง ผู้ประกอบการที่มั่นใจในความเป็นอินทรีย์ของผลิตผลและ/หรือผลิตภัณฑ์ของตน จึงมักขอรับรองด้วยระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM?เป็นอย่างน้อย เพราะเป็นระบบมาตรฐานระดับสากลที่เป็นที่ยอมรับของหลายประเทศทั่วโลก
ดังนั้น วิธีการง่ายๆ สำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าอินทรีย์ของแท้ก็คือ มองหาสัญลักษณ์คำว่า IFOAM Accredited บนฉลากผลิคภัณฑ์ ก็จะช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่วางใจได้ว่าผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่น่าเชื่อถือหรือเชื่อถือได้
ใครตรวจรับรอง
หน่วยงานที่ทำการตรวจและออกใบรับรอง (Certification Body – CB) ที่น่าเชื่อถือหรือเชื่อถือได้ ควรเป็นหน่วยงานอิสระ (Independent party) มีสถานะเป็นบุคคลที่สาม (Third Party) ที่มีความเป็นกลาง?ตลอดจนมีระบบการตรวจและการออกใบรับรองที่มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้?และเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจมีความรู้ในเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของมาตรฐานอินทรีย์ที่อ้างอิง มีความเชี่ยวชาญในเทคนิคการตรวจสอบกระบวนการผลิตอินทรีย์
ในระดับสากล สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ได้จัดตั้งโครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM (IFOAM Accreditation Program) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้บริการรับรองระบบงานแก่หน่วยงานที่เป็นผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก โดยหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจะขึ้นทะเบียนกับสมาพันธ์ฯ เป็นผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ (IFOAM Accredited Certification Body – ADB) และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2540 สมาพันธ์ฯ ได้จัดตั้งหน่วยบริการรับรองระบบประกันคุณภาพเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Organic Accreditation Service – IOAS) เพื่อมาทำหน้าที่ให้บริการรับรอง (Accreditation Body – AB) ภายใต้กรอบของโครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM แทนโดย IOAS ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน?หน่วยงานผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจาก IOAS (Accredited Certification Body – ACB) จะใช้ตราสัญลักษณ์ IFOAM Accredited ระบุไว้ควบคู่กับตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานผู้ตรวจนั้นๆ
สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท. (Organic Agriculture Certification Thailand – ACT) เป็นองค์กรตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของคนไทยรายเดียวและรายแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM จาก IOAS (IFOAM Accredited Certification Body) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544? มกท.เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไร ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หลายขอบข่ายและหลายมาตรฐาน ขึ้นกับลักษณธการผลิต-จัดการ-แปรรูป-ตลาดของผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึง ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง เพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผลผลิตจากป่า การแปรรูปและจัดการผลผลิต เครื่องสำอาง และรายการอาหารอินทรีย์ในร้านอาหาร ภายใต้มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ มกท. ระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM ระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป ระบบเกษตรอินทรีย์สวิตเซอร์แลนด์ ระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา และ ระบบเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังให้บริการ การตรวจประเมินเบื้องต้น เพื่อประเมินความพร้อมของระบบการจัดการฟาร์มและการประกอบการ ก่อนที่จะสมัครขอการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์จริง ?รวมทั้งการตรวจรับรองแบบกลุ่ม สำหรับกลุ่มเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการที่ได้จัดทำข้อตกลงในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร
ในหลายกรณี ผู้ประกอบการหรือผู้ซื้อจากต่างประเทศที่มีข้อตกลงรับซื้อผลผลิตจากผู้ผลิตในประเทศไทย จะระบุให้ใช้หน่วยงานผู้ตรวจรับรองฯ จากประเทศของตน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองจาก IOAS และเป็นที่เชื่อถือกันในระดับสากล?บริษัทตรวจรับรองเหล่านี้บางแห่งได้ตั้งตัวแทนในประเทศไทยให้ทำหน้าที่ตรวจรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานของบริษัทนั้นๆ เช่น BioAgriCert (BAC) จากอิตาลี? BSC KO-GARANTIE GMBH (BSC) จากเยอรมันนี EcoCert จากฝรั่งเศส IMO (Institute for Marketecology) จากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ในส่วนของภาครัฐไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีนโยบายดำเนินการรับรองระบบงาน (Accreditation) ด้านเกษตรอินทรีย์แก่หน่วยงานรับรองสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นที่เชื่อถือยอมรับในระดับสากล โดยมีสำนักรับรองมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ (สรม.) ในฐานะหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body – AB) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้การรับรองหน่วยรับรองด้านสินค้าเกษตรและอาหาร (Certification Body – CB) โดยหน่วยรับรองที่จะขอรับการรับรองจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยข้อกำหนดทั่วไปสำหรับหน่วยรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ (General Requirements for Bodies Operating Product Certification Systems, ISO/IEC Guide 65 : 1996) และจะต้องตรวจรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำเกษตรอินทรีย์ของ มกอช. โดย มกอช. จะให้การรับรองระบบงานเฉพาะในขอบข่ายของเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ได้แก่
– การผลิตพืชเกษตรอินทรีย์
– การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์
– การเลี้ยงสัตว์เกษตรอินทรีย์
– การแปรรูปและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์
ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานอิสระภายนอกที่ขอรับรองเป็นผู้ตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน มกอช. มีเพียงหน่วยงานภาครัฐภายใต้กระทรวงเกษตรอและสหกรณ์ทำหน้าที่ตรวจรับรอง ซึ่งมีการแบ่งงานตรวจรับรองผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตามประเภทการผลิตและการแปรรูป ดังนี้
ขอบข่ายการรับรอง?หน่วยงานตรวจรับรอง
– การผลิตและแปรรูปพืชเกษตรอินทรีย์ /?พืชไร่-พืชสวน สถาบันพืชอินทรีย์ — กรมวิชาการเกษตร และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8
– ข้าว — กรมการข้าว
– การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์ — กรมประมง
– การเลี้ยงสัตว์และแปรรูปสัตว์เกษตรอินทรีย์ — กรมปศุสัตว์
– การเลี้ยงไหมและผลิตไหมอินทรีย์ –? กรมหม่อนไหม
ทั้งนี้ หากเกษตรกรอินทรีย์ที่ทำเกษตรผสมผสาน และต้องการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับการผลิตทุกประเภทในฟาร์มของตน อาจสามารถติดต่อขอรับการรับรองมาตรฐานการผลิตทุกประเภทผ่าน มกอช. หรือ กรมวิชาการเกษตร ทีเดียว หากทำไม่ได้ก็จำเป็นต้องติดต่อขอรับการรับรองจากแต่ละหน่วยงาน?
เนื่องจากการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ มกอช. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง และสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจรับรองทุกแห่ง งานตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ถือเป็นงานฝากก็ว่าได้ เพราะแต่ละหน่วยงานไม่มีเจ้าหน้าที่เฉพาะเพื่อทำหน้าที่ตรวจรับรอง จึงมีปัญหาเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองไม่เพียงพอ ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ยื่นใบสมัครขอรับการรับรองไว้จำนวนมาก ต้องรอคิวบางกรณีนานเป็นปีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจรับรองฟาร์มหรือสถานประกอบการ
อันที่จริงแล้ว ข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ มกอช. จะมีความเข้มข้นมากกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล แต่ความน่าเชื่อถือของขั้นตอนการตรวจรับรองทำให้ตรามาตรฐาน Organic Thailand ยังไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าหลักสินค้าอินทรีย์จากประเทศไทย
โดยรวมแล้ว การเลือกหน่วยงานผู้ตรวจรับรองของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ มักจะเกี่ยวโยงกับระบบมาตรฐานที่ต้องการขอรับรอง และหากเป็นการรับรองด้วยระบบมาตรฐานระดับสากล?อย่างน้อยหน่วยงานผู้ตรวจก็ควรได้รับการรับรองจาก IOAS และสามารถใช้สัญลักษณ์คำว่า IFOAM Accredited คู่กับสัญลักษณ์หน่วยงานของตัวเอง
ดังนั้น หากไม่รู้จักผู้ผลิต หรือไม่เขื่อใจร้านค้าที่นำสินค้าอินทรีย์มาขาย และต้องการความมั่นใจว่าสินค้าที่ซื้อเป็นอินทรีย์แท้แน่นอน ก็ควรมองหาสัญลักษณ์คำว่า IFOAM Accredited ที่ฉลากผลิตภัณฑ์เป็นอย่างน้อย แต่หากมีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของประเทศผู้นำเข้าหลักๆ ด้วย ก็จะยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้น
ผู้บริโภคและผู้ซื้อควรศึกษาทำความรู้จักกับตรารับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์หลักๆ และมองหาตรารับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ระดับที่น่าเชื่อถือ หรือที่ตนเองยอมรับได้ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของแท้ที่เชื่อถือได้
ที่มา:
– สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
– สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
– กรีนเนท
– ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์
– มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ข้อมูลเพิ่มเติม
– การแบ่งระดับความปลอดภัยของผลผลิตการเกษตร
– ตรารับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ที่ควรรู้จัก
– ข้าวเจ้าหอมนิลอินทรีย์ Organic Hom-nin (Black) Rice
– ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
กลับสู่หน้าหลัก: ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมลดโลกร้อนนวชีวัน