– หลายคนอาจนอนหลับสนิทไปแล้วและกำลังอยู่ในโลกของความฝัน ไม่ว่าจะเป็นการ ?ฝันดี? หรือ ?ฝันร้าย? ก็ตาม ทั้งนี้ขณะที่ ?โลก? ซึ่งเรารับรู้ เป็นสัมพัทธภาพระหว่าง ?รูป? (สิ่งที่ถูกรู้) กับ ?นาม? (อันคือจิตที่เป็นผู้รู้) ตามนัยแห่งกฎปฏิจจสมุปบาทและทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ดังที่ได้กล่าวมา คนที่มีจิตขุ่นมัวเพราะถูกบีบคั้นครอบงำด้วยความ ?โลภ-โกรธ-หลง? ถึงแม้จะกำลังนั่งอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่โตที่มีสิ่งอำนวยความสุขสะดวกสบายทุกอย่างประดุจวิมานบนสวรรค์ แต่คุณภาพของ ?โลกที่คนผู้นั้นรับรู้? อันถูกฉาย (project) ออกไปจาก ?จิตที่ขุ่นมัว? ไปปรากฏบนฉากของคฤหาสน์หลังนั้นแล้วสะท้อนกลับสู่การรับรู้ของจิตดังกล่าว ก็จะปรากฏแก่คนผู้นั้นไม่แตกต่าง หรือ ?สมมูล? (equivalence) กับการตกอยู่ใน ?นรก? ขุมใดขุมหนึ่งที่เร่าร้อนจนนั่งไม่เป็นสุข?? ในทางกลับกันถึงกำลังนั่งอยู่ในกระท่อมซอมซ่อ แต่ถ้าจิตของผู้นั้นนิ่งสงบผ่องใส (แม้เพียงชั่วขณะในฌานลืมตา) ?โลกที่ถูกรู้? ซึ่งฉายออกไปจาก ?จิตที่ผ่องใส? โดยไปปรากฏบนฉากของกระท่อมซอมซ่อ ก็จะสะท้อนกลับมาให้เห็นประดุจกำลังอยู่ใน ?สวรรค์? ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มีความประณีตงดงามเบาสบาย ในความหลับใหลอันยาวนานที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ตื่นขึ้นมาอีกหรือไม่เมื่อไหร่ คุณอยาก ?ฝันร้ายตกนรก? หรือ ?ฝันดีได้ขึ้นสวรรค์? แบบไหนมากกว่ากัน
– กฎปฏิจจสมุปบาทในหลักพุทธธรรมชี้ให้เห็นว่า ?อวิชชา? (ความไม่รู้) เป็นปัจจัยให้เกิด ?สังขาร? (โครงสร้างการปรุงแต่งในภวังคจิตที่เป็นไปตามอำนาจแห่งอวิชชา) สังขารเป็นปัจจัยให้เกิด ?วิญญาณ? (โครงสร้างการรับรู้ในภวังคจิตตามอิทธิผลแห่งการปรุงแต่งของสังขาร) วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิด ?นาม-รูป? (โครงสร้างของภาวะความแปลกแยก ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้หรือ ?รูป? กับจิตที่เป็นผู้รู้หรือ ?นาม? ภายใต้กระบวนการรับรู้ที่ซ่อนตัวอยู่ในรูปภาวะแฝง) นาม-รูปเป็นปัจจัยให้เกิด ?สฬายตนะ? (โครงสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่ถูกรู้จากภายนอกกับจิตที่เป็นผู้รู้ภายใน) สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิด ?ผัสสะ? (ภาวะจริงของกระบวนการรับรู้ในวิถีจิตที่เชื่อมสิ่งที่ถูกรู้กับจิตที่เป็นผู้รู้เข้าด้วยกัน) ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิด ?เวทนา? (ความรู้สึก พึงพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ) เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิด ?ตัณหา? (ความอยากเสพอารมณ์ความรู้สึกที่น่าพอใจและอยากผลักไสอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจออกไปให้พ้นๆ) ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิด ?อุปาทาน? (ความยึดถือสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพึงพอใจ มาเป็นอัตตาตัวตนของสิ่งที่ดำรงอยู่จริงอย่างเป็นภววิสัยหรือวัตถุวิสัย เช่น เพราะฉันกำลังอยากได้ อยากมี อยากเป็น ฉะนั้นตัวตนของฉันจึงดำรงอยู่จริงเท่ากับขนาดของความรู้สึกอยากนั้นๆ เป็นต้น) อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิด ?ภพ? (สถานะของอัตตาตัวตนภายใต้ระบบความสัมพันธ์ในโลกแห่งความรู้สึก-นึก-คิด ที่เราสร้างขึ้น) ภพเป็นปัจจัยให้เกิด ?ชาติ? (การเกิดขึ้นของบทบาทพฤติกรรมต่างๆไปตามอิทธิพลภายใต้ระบบความสัมพันธ์ในภพหรือโลกแห่งความรู้สึก-นึก-คิดที่เราสร้างขึ้นดังกล่าว) ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ?ชรา-มรณะ-โสกะ-ปริเทวะ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส? (เมื่อสถานะของสิ่งต่างๆตามที่เรารู้สึก-นึก-คิด มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์ และต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักใคร่พอใจ ต้องประสบกับสิ่งที่เราไม่รักไม่พึงพอใจ ตลอดจนปรารถนาอยากได้สิ่งใดๆแต่ไม่ได้ตามที่ต้องการดังใจ ฯลฯ ก็จะนำไปสู่ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ต่างๆตามมาในที่สุด)
– ?อัตตวาทุปาทาน? (การมีอุปาทานที่ไปยึดถือมโนทัศน์ซึ่งสะท้อนผ่าน ?ภาษา? มาเป็นอัตตาตัวตนที่ดำรงอยู่จริงอย่างเป็นวัตถุวิสัยของสิ่งต่างๆ) อันเป็นอุปาทานระดับที่สี่ (นอกเหนือจากกามุปาทาน, ทิฏฐุปาทาน, และสีลัพพตุปาทาน) ที่เป็นปัจจัยให้เกิด ?ภพ? จึงมีลักษณะเป็นเสมือนกรดอมิโนแต่ละตัวบนสาย DNA ที่กำหนดสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ถ้าหากตำแหน่งแห่งที่ของ ?คำที่เป็นกุญแจสำคัญ? ในสายพันธุ์แห่ง ?กระบวนทัศน์? (Paradigm) ของความรู้เปลี่ยนแปลงความหมายไป ก็จะทำให้เกิดการ ?เปลี่ยนกระบวนทัศน์? (Paradigm Shift) ของ ?โลกที่ถูกรู้? (หรือ ?ภพ?) ฉะนั้นเราจึงสามารถควบคุม ?โลกภายนอกที่ถูกรู้? ได้จาก ?โลกภายในของจิตที่เป็นผู้รู้?
– การ ?ควบคุมโลกทั้งหมด? ด้วยวิธีแบบนี้จะเป็น ?สนฺทิฎฐิโก? (เป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ด้วยตนเองเท่านั้น) ?อกาลิโก? (เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่จำกัดด้วยเวลา) ?โอปนยิโก? (เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ) และ ?ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ? (เป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน) อุปมาเหมือนเราต้องเข้าไปนั่งอยู่ในยานอวกาศและรู้วิธีควบคุมยานอวกาศลำที่เรานั่งเท่านั้น เราจึงจะสามารถควบคุมบังคับความเร็วของเทหวัตถุทุกอย่าง (ที่อยู่นอกยานของเรา) ได้ด้วยวิถีทางแบบนี้