– เวลาบ่ายคือการเข้าสู่วัยกลางคนและครึ่งช่วงหลังของนาฬิกาแห่งชีวิต ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่การแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจในมิติทางเศรษฐกิจ (ลาภ) อำนาจในมิติทางการเมือง (ยศ) และอำนาจในมิติทางสังคม (สรรเสริญ) เป็นไปอย่างเข้มข้น ด้วยแรงบีบคั้นผลักดันจาก ?ความกลัว? ที่จะตกอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม ที่ด้อยกว่าคนซึ่งเรายึดเป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบ เช่น เพื่อนบ้านในชุมชน ญาติพี่น้อง หรือคนที่เรารู้จัก ฯลฯ
– เพราะ ?อำนาจ? ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกมั่นคงให้กับตัวตน(ที่เกิดจากความกลัวต่อ ?ปริสสารัชชภัย?) นั้น เกิดขึ้นโดยการเปรียบเทียบเชิงสัมพัทธ์ (relative deprivation) กับผู้คนที่เรายึดถือมาเป็นตัวเทียบ เช่น ถ้าเพื่อนในที่ทำงานมีรถเก๋งขณะที่เรามีแค่รถจักรยานยนต์ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเอง ?ถูกข่ม? ให้ด้อยลง อันทำให้ต้องดิ้นรนหาเงินมาซื้อรถเก๋งบ้าง ถึงแม้จะโดยการซื้อด้วยเงินกู้หรือซื้อแบบเงินผ่อนก็ตาม ?ทั้งนี้เพื่อจะรักษาสถานะของตำแหน่งแห่งที่บนพื้นที่ทางสังคมที่เรายืนอยู่ให้ดำรงคงไว้ หรือเพื่อยกระดับสถานะของตัวเองให้สูงขึ้นกว่าเดิม (แต่เราจะไม่ไปเทียบตัวเองกับผู้คนในช่วงชั้นที่ห่างออกไปมาก อาทิ เจ้าของบริษัทที่เราเป็นพนักงานซึ่งถึงจะซื้อรถหรูกี่คันก็ไม่รู้สึกว่ากระทบอะไรต่อเรา แตกต่างจากเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องในช่วงชั้นที่ใกล้กับเรา ซึ่งถ้าเกิดซื้อรถหรูสักคันก็จะส่งผลทำให้ตัวเรารู้สึกมีสถานะที่ ?ด้อยลง? ในเชิงเปรียบเทียบ หรือมี ?อำนาจ? ลดน้อยลงภายใต้ระบบความสัมพันธ์ในพื้นที่ทางสังคมดังกล่าว)
– เมื่อ ?อัตตาตัวตน? ที่เกิดจากความกลัวของผู้คนขยายใหญ่ขึ้นๆเพราะการเปรียบเทียบเชิงสัมพัทธ์ แล้วต่างมุ่งไขว่คว้าแสวงหาอำนาจในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือ ?ลาภ ยศ สรรเสริญ? เพื่อเป็นหลักประกันช่วยบรรเทาความกลัวที่บีบคั้นอยู่ลึกๆในจิตใจ เหมือนคนที่ยิ่งมีร่างกายเติบใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งต้องการปริมาณอาหารมาหล่อเลี้ยงมากเท่านั้น จนระบบสังคมการเมืองไม่มี ?พื้นที่? เพียงพอที่จะรองรับตัวตนที่เกิดจากความกลัวของผู้คน และอาจต้องล่มสลายลงเพราะปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงอำนาจแห่ง ?ลาภ ยศ สรรเสริญ? (ที่นำไปสู่โลกียสุข) ด้วยเหตุนี้ทุกระบบสังคมการเมืองจึงจำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนของ ?โครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม? รวมถึงช่องทางแคบๆสำหรับการยกระดับช่วงชั้นของผู้คน (เสมือนรูเล็กๆที่ช่วยระบายไอน้ำเพื่อไม่ให้แรงดันของหม้อน้ำสูงเกินไปจนเกิดระเบิด) ตลอดจนมีกลไกที่ช่วยอบรมกล่อมเกลาเพื่อให้ผู้คนยอมรับ ?ความชอบธรรม? ของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำดังกล่าว
– ความไม่เท่าเทียมของผู้คนจึงเป็นธรรมชาติปรกติอย่างหนึ่งในระบบสังคมมนุษย์ โดยถ้าไปฝืนธรรมชาตินี้ด้วยการพยายามจะทำให้ผู้คนมีสถานะเท่ากันหมด ก็อาจกลับกลายเป็นความยุ่งเหยิงโกลาหล เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยึดทรัพย์สินจากเศรษฐีมาเป็นของรัฐแล้วนำมาจัดสรรแบ่งให้ผู้คนเท่าๆกัน ถ้าคนที่ขยันได้รับส่วนแบ่งเท่ากับคนที่เกียจคร้าน ดังนี้ผู้คนก็จะไม่ใช้ศักยภาพทุ่มเททำงานเต็มที่ อันจะกลายเป็นปัญหาในอีกด้านหนึ่งดังเช่นที่ประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายประสบมาแล้ว แต่ถ้าหากปล่อยให้คนที่ขยันทำงานได้รับผลตอบแทนมากกว่าคนที่ขี้เกียจ ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงสภาพความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของผู้คนในสังคมไม่ได้ เป็นต้น
– การพัฒนาระบบสังคมการเมืองจึงไม่ใช่อยู่ที่การหาทางทำให้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในสังคมหมดไป แต่อยู่ที่การสร้างระเบียบแบบแผนของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในทิศทางที่ผู้คนภายใต้บริบทของสังคมนั้นๆยอมรับ ?ความชอบธรรม? แห่งความไม่เท่าเทียมนั้นๆได้ ทั้งนี้หลักคำสอนทางศาสนาหรือจริยปรัชญา (Ethics) ทุกระบบ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการสอนเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทั้งสิ้น โดยเป็นความไม่เท่าเทียมระหว่างการ ?ทำดี? กับ ?ทำชั่ว? เพราะถ้าหากคนที่ ?ทำดี? (ตามแนวทางที่ระบบจริยปรัชญานั้นๆอธิบาย) ได้รับผลตอบแทนเท่ากับคนที่ ?ทำชั่ว? แล้วจะอาศัยอะไรเป็นพันธะทางจริยธรรม (moral obligation) เพื่อชักนำให้ผู้คนหันมา ?ทำความดี? ตามบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่สังคมนั้นๆพึงประสงค์