– สำหรับคนที่เกิดปี พ.ศ. 2500 ช่วงที่มีอายุ 49 ปี คือห้วงเวลาที่ได้เผชิญกับจุดเริ่มต้นของวิกฤติความขัดแย้งครั้งใหญ่ในระบบสังคมการเมืองไทย ซึ่งนำไปสู่การทำรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (หลังจากที่มีเหตุการณ์ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ เกิดขึ้นมากกว่า 19 ครั้งในรอบระยะเวลา 74 ปี นับตั้งแต่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินมาเป็น ?ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข? โดยสามารถทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารสำเร็จ 9 ครั้ง มีการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐแต่ถูกปราบปรามกลายเป็นกบฏ 6 ครั้ง และมีการจับกุมดำเนินคดีผู้วางแผนก่อการกบฏก่อนที่จะมีการเคลื่อนกำลังเข้ายึดอำนาจอีกกว่า 3 ครั้ง ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึง 17 ฉบับ เฉลี่ยแล้วมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญๆเกิดขึ้นกับการเมืองไทยสี่ปีเศษต่อครั้ง)
– ความไม่มีเสถียรภาพของระบบสังคมการเมืองไทยมาจากหลายสาเหตุที่ผสมผสานกัน แต่หนึ่งในสาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากปัญหา ?ความชอบธรรม? ของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากในยุคสมัยหนึ่งผู้คนอาจจะยอมรับคำอธิบายความชอบธรรมของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในระบบสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบเดิมได้ แต่เมื่อเงื่อนไขต่างๆเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา ชุดคำอธิบายความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองแบบเดิมก็อาจเริ่มใช้การไม่ได้
– เหตุที่คำอธิบายเพื่อให้ผู้คนยอมรับ ?ความชอบธรรม? ในความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของอำนาจทางเศรษฐกิจ (ลาภ) อำนาจทางการเมือง (ยศ) และอำนาจทางสังคม (สรรเสริญ) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของระบบสังคมการเมืองหนึ่งๆ ก็เพราะ ?อำนาจ? ที่เกิดจาก ?ลาภ ยศ สรรเสริญ? เหล่านี้เป็นอำนาจในมิติเชิงสัมพัทธ์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆในสังคม การไม่ยอมรับความชอบธรรมของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำนั้นๆก็เท่ากับไม่ยอมรับอำนาจที่ฝังตัวอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมดังกล่าว อันจะนำไปสู่วิกฤตการณ์แห่งความมั่นคงของระเบียบแบบแผนต่างๆในระบบสังคมการเมืองที่กระทบถึง ?ความมั่นคงของรัฐ?
– เช่นในอดีตที่การใช้กำลังทางทหารเข้าแย่งชิงดินแดนของชนชาติอื่นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง นักรบหรือ ?วรรณะกษัตริย์? ก็มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในช่วงชั้นทางสังคมที่เหนือกว่าคนกลุ่มอื่น โดยที่ผู้คนยอมรับความชอบธรรมแห่งอำนาจนั้นก็ เพราะความสามารถในการรบพุ่งย่อมช่วยปกป้องผู้คนจากการถูกชนชาติอื่นรุกรานได้?? แต่ปัจจุบันเมื่อต้นทุนทางสังคมของการใช้กำลังทางทหารเข้าแย่งชิงความมั่งคั่งจากชนชาติอื่นเพิ่มสูงขึ้นจนไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ (เนื่องจากความหายนะอันเกิดจากแสนยานุภาพของอาวุธสมัยใหม่ที่ควบคุมขอบเขตได้ยาก เช่น กัมมันตภาพรังสีในชั้นบรรยากาศจากอาวุธนิวเคลียร์ เชื้อโรคร้ายแรงของอาวุธชีวภาพที่อาจจะแพร่ระบาดไปนอกพื้นที่เป้าหมายได้ ฯลฯ) ในขณะที่การใช้ ?สงครามทางเศรษฐกิจ? เพื่อเป็นเครื่องมือแย่งชิงความมั่งคั่งน่าจะมีประสิทธิผลมากกว่า ความชอบธรรมของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มคนต่างๆในสังคมจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดย ?วรรณะแพศย์? หรือพ่อค้าจะขึ้นมามีอำนาจแทนนักรบหรือ ?วรรณะกษัตริย์? เป็นต้น
– เมื่อความต้องการอำนาจในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม (ลาภ ยศ สรรเสริญ) เพื่อช่วยหล่อเลี้ยง ?ตัวตนที่เกิดจากความกลัว? สามารถขยายขอบเขตได้ไม่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรของสังคมมีจำกัด?? ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความแตกสลายของสังคมเพราะการแย่งชิงทรัพยากรอันมีจำนวนจำกัดเหล่านั้น ในขณะที่ความเชื่อทางศาสนาต่างๆสามารถช่วยคลี่คลายบรรเทา ?ความกลัว? หรือตอบสนองความต้องการของ ?ตัวตนที่เกิดจากความกลัว? ได้โดยไม่ก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรอะไร เช่น ถ้าเชื่อว่าพระเจ้าจะคอยช่วยปกป้องผู้คนจากภัยพิบัติต่างๆหากมีความศรัทธาในพระองค์ ก็จะช่วยบรรเทา ?ความกลัว? ของผู้คนได้โดยไม่ต้องไปแย่งชิงอำนาจจากใคร เป็นต้น?? ศาสนาจึงกลายเป็น ?เงื่อนไขจำเป็น? ที่ช่วยให้ระบบสังคมการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ปกครองบ้านเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบต่างๆ ต้องอาศัย ?ศาสนาของรัฐ? มาช่วยสร้างคำอธิบายเพื่อ ?ให้ความชอบธรรม? ต่อโครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในระบบสังคมการเมืองนั้นๆ ?วิกฤติศรัทธาในศาสนาของรัฐ? จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้