– ความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายของกลุ่มชนชั้นนำ (power elites) ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้วิกฤติความขัดแย้งของการเมืองไทยขยายออกไปเป็นวิกฤติความขัดแย้งทางสังคมระหว่างคนไทยสองฝ่ายที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และลงลึกเป็นความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัวเดียวกันที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในที่สุดก็นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่ทหารใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนในช่วงปี 2553 จนทำให้มีราษฎรบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเป็นครั้งที่ 4 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2475 ถัดจากเหตุการณ์นองเลือดกรณี 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 , และพฤษภาทมิฬ 2535)
– แน่นอนว่าวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ แต่การที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองสามารถขยายขอบเขตอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นวิกฤติความขัดแย้งระหว่างมวลมหาประชาชนสองฝ่ายได้ ย่อมจะมีเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กับประโยชน์สุขของผู้คนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสองฐาน (dual track) ของรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ (หรือที่เรียกกันว่า ?ระบอบทักษิณ?) ซึ่งสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจระดับบนให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในโลก ขณะที่ช่วยเหลือเศรษฐกิจระดับล่างของคนยากจนส่วนใหญ่ในประเทศด้วยนโยบายประชานิยมต่างๆ ทำให้กลุ่ม ?ชนชั้นกลาง? ในเมืองที่เหมือนอยู่ตรงกลางของแซนด์วิส รู้สึกถูกลิดรอนอำนาจในเชิงสัมพัทธ์ (relative deprivation) ทั้งสองทาง เพราะเมื่อมองขึ้นไปก็เห็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีที่มีเงินมากกว่าตน กลับยิ่งร่ำรวยมากขึ้นๆในสัดส่วนที่มากกว่าเงินเดือนหรือโบนัสซึ่งตนได้เพิ่มขึ้นอันรู้สึกเป็นความ ?ไม่ชอบธรรม? ในด้านหนึ่ง ขณะที่เมื่อมองลงมาก็เห็นกลุ่มคนในช่วงชั้นที่ต่ำกว่ากำลังวิ่งไล่กวดตนขึ้นมา ด้วยเงินช่วยเหลือตามโครงการประชานิยมทั้งหลายที่มาจากเงินภาษีของตน (เพราะคนชั้นกลางส่วนใหญ่กินเงินเดือนประจำอันเลี่ยงภาษียาก) ทำให้รู้สึกเป็นความ ?ไม่ชอบธรรม? ในอีกด้านหนึ่ง
– การไปช่วยให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในเครือข่ายของตระกูลชินวัตร) มีความมั่งคั่งร่ำรวยมากขึ้นๆ จนทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งถ่างกว้างออกไปเช่นนี้จะถือว่ามีความชอบธรรมได้อย่างไร และการไปปลูกฝังค่านิยมให้คนจนได้อะไรง่ายๆจากนโยบายประชานิยม ถ้าเกิดคนเหล่านี้เสพติดนโยบายดังกล่าวแล้วใช้เสียงข้างมากของตนกดดันให้รัฐนำเงินภาษี (ซึ่งส่วนใหญ่เก็บมาจากคนชั้นกลาง) มาจัดสรรให้กับคนช่วงชั้นล่างผ่านทางนโยบายแบบประชานิยมมากขึ้นๆ ดังนี้ย่อมจะทำให้ประเทศชาติเกิดความล่มจมลงได้ แล้วจะเรียกว่าชอบธรรมได้อย่างไร จึงออกมาโค่นล้ม ?ระบอบทักษิณ? ขณะที่คนยากจนส่วนใหญ่ซึ่งเคยถูกผู้คนในช่วงชั้นที่เหนือกว่าขูดรีด (exploit) เอามูลค่าส่วนเกินจากพลังแรงงาน (surplus value) ของตนไป และเพิ่งจะมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้นจากนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษา โครงการ SML ฯลฯ จึงออกมาปกป้องอดีตนายกฯทักษิณและ ?ระบอบประชาธิปไตย? ที่ทำให้พวกตนได้รับการเหลียวแลจากผู้บริหารบ้านเมืองอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเช่นนี้ ?ผลที่สุดก็กลายเป็นความขัดแย้งอย่างกว้างขวางระหว่างประชาชนสองฝ่าย
– การที่กลุ่มชนชั้นนำซึ่งต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอยู่นั้น ต่างจำเป็นต้องหาเหตุผลคำอธิบายถึงความชอบธรรมของการต่อสู้เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง ส่งผลให้มีการอ้าง ?เหตุผล? ซึ่งสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ทางการเมือง 2 ชุดที่มีความแปลกแยก (alienation) จากกัน (อันเป็นรากเหง้าสำคัญแห่งปัญหาความไร้เสถียรภาพที่แฝงอยู่ในระบบสังคมการเมืองไทย) โดยประชาชนฝ่ายหนึ่งที่ใช้ ?เสื้อเหลือง? เป็นสัญลักษณ์ ได้อ้างอุดมการณ์ทางการเมืองใน ?ลัทธิจารีตนิยม? ที่เชื่อมโยงกับศาสนาของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความชอบธรรมของการต่อสู้ด้วยการโจมตีอีกฝ่ายว่าเป็น ?การเมืองที่ไม่มีคุณธรรม? (เช่นมีการทุจริตคอรัปชั่นและไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ) จึงจำเป็นต้องโค่นล้ม?? ในขณะที่ประชาชนอีกฝ่ายซึ่งใช้ ?เสื้อแดง? เป็นสัญลักษณ์ ได้อ้างอุดมการณ์ ?ลัทธิประชาธิปไตย? ที่ยึดโยงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของการต่อสู้ ด้วยการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกสนับสนุน ?การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย? (เพราะเห็นดีเห็นงามกับการทำรัฐประหารของทหาร) จึงจำเป็นต้องต่อต้าน