บทความ: เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
- เกริ่นนำ: อนาคตอยู่ในมือเรา
- บทที่ 1: พลังชีวภาพกับการเกษตร
- บทที่ 2:ระบบการทำเกษตรเพื่ออนาคต
- บทที่ 3:หลักสำคัญ 3 ประการ ของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
- การปฏิวัติเขียวยุคศตวรรษที่ 21
- ความท้าทายสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร
- แนวทางการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
————————————————————————————————
?การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบองค์ประกอบหลักสี่ประการของความมั่นคงด้านอาหาร ? ความพอเพียง เสถียรภาพ การใช้ และการเข้าถึง… ขั้นต่อไปในการพัฒนาการเกษตรจำเป็นต้อง …เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การหมุนเวียนคาร์บอนกลับมาใช้ และการรับรองว่าดินยังคงมีธาตุอาหารจำนวนมาก?
– UN-ESCAP: เกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหารในเอเซียและแปซิฟิก
การมองการณ์ไกลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือความท้าทายของอนาคตที่เกิดจากปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน การขาดแคลนน้ำจืด และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก เราต้องการวิธีทำเกษตรกรรมยุคใหม่ที่ให้ประสิทธิผลและมีความยั่งยืนมากขึ้น ต้องเป็นวิธีการที่จะสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ อุดมด้วยธาตุอาหาร มีรสอาหารตามธรรมชาติ เปี่ยมด้วยพลังชีวิต ไม่มีสารเคมีอันตรายปนเปื้อน เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค และในขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และรักษาสุขภาพ ตลอดจนสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนไปได้พร้อมๆกัน เพื่อให้เป็นเทคโนโลยีการทำเกษตรกรรมสำหรับการปฏิวัติเขียวยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
การปฏิวัติเขียวยุคศตวรรษที่ 21
วิธีการทำเกษตรกรรมตามแนวทางการปฏิวัติเขียวของยุคก่อน ซึ่งเป็นแนวทางกระแสหลักในปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการทำเกษตรอินทรีย์แบบอุตสาหกรรมที่ยังคงใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ล้วนเป็นวิธีการเกษตรที่มองเห็นดินเป็นเพียงปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่งเพื่อมุ่งหวังผลผลิตเป็นหลัก ไม่ได้เอาใจใส่ดูแลดินอย่างเหมาะสม และไม่สามารถรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาวิกฤตหลายประการที่โลกกำลังเผชิญอยู่ กรอบการพิจารณาอนาคตของการผลิตพืชและอาหารในยุคศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมองบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวม และต้องตระหนักว่าการตัดสินใจในเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการผลิตพืชและอาหาร ต้องมองจากหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เราต้องตระหนักร่วมกันว่า เป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรมนั้นต้องนำไปสู่การฟื้นฟูดิน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ หาใช่ตัวเลขผลผลิต/ไร่ หรือการเติบโตของจีดีพี (GDP) ภาคเกษตรเท่านั้น
เพื่อความมั่นคงทางอาหารและความอยู่รอดของมนุษยชาติบนโลกใบนี้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีทำเกษตรกรรม ต้องลดการใช้ระบบเกษตรกรรมที่ทำลายดินด้วยการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และสารเคมีเพื่อการเกษตรอย่างไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งมีชีวิตในดินและระบบนิเวศแวดล้อม ลดการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งส่งเสริมการทำลายป่าไม้และทำให้ดินเสื่อมโทรม เราต้องหยุดการบุกรุกทำลายป่าไม้ ลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรม และจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตการเกษตรบนที่ดินที่ใช้ทำการเกษตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน หาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับประชากรโลกที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน ตลอดจนมีวิธีการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมและเสียหายให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเร็ว เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชอาหารหรือพืชพลังงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยลดปัญหาจากภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
?อาหารที่ผลิตในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกส่วนใหญ่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว…ภาครัฐควรพิจารณาให้การสนับสนุนอย่างจริงจังกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยในการปฏิวัติเขียวเพื่อการผลิตอาหารแนวใหม่ ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหารของเกษตรกรรายย่อยที่ทำการผลิตด้วยระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม?
– UN-ESCAP: เกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหารในเอเซียและแปซิฟิก
วิธีทำการเกษตรของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยวิธีธรรมชาติ ที่เร็วกว่ากระบวนการธรรมชาติถึง 60 เท่า และสามารถเพิ่มผลผลิตอาหารต่อพื้นที่ได้มากขึ้น 2-6 เท่าของเกษตรเคมี โดยสามารถลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากภายนอกระบบได้โดยสิ้นเชิงในระยะยาว ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และการลดการใช้ทรัพยากรจากภายนอกระบบก็เป็นการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกวิธีหนึ่ง และเนื่องจากวิธีการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพไม่มีการใช้เครื่องจักรในการทำเกษตร แต่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก ทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนเพื่อซื้อเครื่องจักร จึงนับเป็นระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย
จากการวิจัยระยะเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2515-2520 ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford Univesity) ในสหรัฐอเมริกา โดยใช้วิธีการเกษตรชีวภาพเข้มข้น (Biointensive) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการหลักที่รวมเป็นระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำเกษตรวิธีนี้โดยใช้แรงงานคน 1 คนในพื้นที่ 1.25 งาน สามารถสร้างได้ 5,000-20,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/คน/ปี (ราคาในสหรัฐฯ เมื่อ 33 ปีก่อน) หรือราว 520,000-2,080,000 บาท/ไร่/ปี การทดลองยังพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าวิธีการนี้สามารถปลูกอาหารพอเลี้ยงคนกินมังสะวิรัต 1 คนได้ตลอดทั้งปีโดยใช้พื้นที่เพียง 65 ตร.ว. การทดลองลักษณะเดียวกันของโครงการ Biosphere II ในมลรัฐอาริโซนา สหรัฐอเมริกาหลายปีถัดมาใช้พื้นที่ 80 ตร.ว. (ตร.ว.) ในการปลูกอาหารสำหรับเลี้ยงคน 1 คนตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดเดียวกับที่ทดลองในทวีปอัฟริกา หรือใช้พื้นที่เพียง 1/6-1/13 ของการทำเกษตรเคมี ซึ่งหมายความว่าวิธีทำการเกษตรแบบนี้สามารถให้ผลผลิตที่สูงกว่าเกษตรเคมี 6-13 เท่า การทดลองในประเทศอาร์เจนตินาเมื่อปี 2539 โดย CIESA ใช้แรงงานเกษตรกร 1 คนทำงาน 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ บนพื้นที่ 200 ตร.ว. สามารถปลูกอาหารเลี้ยงสมาชิกครอบครัวจำนวน 4 คนได้ร้อยละ 60-80 และมีรายได้จากการขายผลผลิตพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้1
นอกจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังถือเป็นการทดแทนผลผลิตที่จะลดลงจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารให้กับประชาคมโลกได้ ตลอดจนการใช้น้ำที่สามารถลดลงเหลือเพียงร้อยละ 12-33 ของน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรเคมี นับเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่เป็นผลจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน นอกจากนี้ พืชที่ปลูกในดินที่อุดมสมบูรณ์จะแข็งแรง สามารถทดทานต่อการขาดน้ำในหน้าแล้ง หรือมีน้ำมากเกินไปในหน้าฝน ลำต้นที่แข็งแรงยังช่วยให้ต้นพืชสามารถทนกับแรงลมจากพายุฝนได้
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอีกประการคือ ดินที่อุดมสมบูรณ์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนจกจากดินสู่อากาศ และยังสามารถดูดคาร์บอนจากอากาศมากักเก็บไว้ในดินได้มากกว่าที่ปล่อยออกไปด้วย (Carbon negative)
แต่เพราะเกษตรกรรมแบบเคมีเป็นต้นต่อสำคัญของก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร จึงทำให้การเกษตรถูกมองข้ามและไม่เห็นคุณค่าในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ข้อมูลจากการวิจัยต่อเนื่องนานกว่า 30 ปีของสถาบันโรเดล (Rodale Institute)2 ชี้ชัดว่า การดูดซับคาร์บอนจากอากาศของระบบเกษตรกรรมอินทรีย์แบบยั่งยืน มีศักยภาพสูงในการลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตรหรือรายได้ของเกษตรกรแต่อย่างใด ผลการวิจัยที่ทำซ้ำหลายครั้งยืนยันว่า หากสามารถเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรแบบกระแสหลักบนโลกนี้ทั้งหมดราว 14 ล้าน ตร.กม. (8,750 ล้านไร่) ให้เป็นระบบเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนแล้ว จะสามารถดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศในปัจจุบันได้เกือบร้อยละ 40 ดินที่ยิ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนได้มาก ดังนั้นประสิทธิภาพในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ จึงอาจทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่มนุษย์เรามีอยู่ สำหรับต่อสู่กับปัญหาวิกฤตทั้งหลายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำเกษตรแบบเคมีอุตสาหกรรม เป็นการปฏิวัติขียวแนวใหม่ที่สามารถเป็นคำตอบและทางออกสำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน รวมทั้งยังให้ผลพวงที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมอีกมหาศาลด้วย
นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเพื่อนำมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง และเนื่องจากพืชที่นำมาใช้ทำปุ๋ยหมักส่วนใหญ่จะมีลำต้นที่สูงและใหญ่กว่าพืชผักทั่วไป ซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ไว้ได้มากกว่า การปลูกพืชเหล่านี้จึงช่วยดูดคาร์บอนจากอากาศมาเก็บไว้ในลำต้นและในดินได้มากขึ้น ประกอบกับประสิทธิภาพการให้ผลผลิตต่อพื้นที่ของเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพที่สูงกว่าเกษตรเคมีถึง 4 เท่า ทำให้วิธีการปลูกพืชด้วยระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพสามารถดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศโลกได้มากกว่าวิธีทำการเกษตรกระแสหลักหรือเกษตรอินทรีย์ทั่วไปที่แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบัน
ถึงแม้ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะสามารถนำไปใช้กับการทำเลี้ยงปศุสัตว์ก็ตาม แต่ระบบนี้จะเน้นการผลิตพืชผักผลไม้ที่มีสารอาหารครบสมบูรณ์ เพื่อลดการใช้พื้นที่ในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเอง ดังนั้นระบบนี้จึงไม่สนับสนุนการเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดใหญ่ แต่หากเป็นการเลี้ยงภายในครัวเรือนทั้งเพื่อเป็นอาหารหรือเป็นสัตว์เลี้ยง ก็สามารถจัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ การทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่นอกจากทำให้เสียทั้งพื้นที่หน้าดินเพื่อการเพาะปลูกแล้วยังเป็นการทำลายโครงสร้างของดินอย่างร้ายแรง เพราะการย่ำเหยียบดินของฝูงสัตว์และการกินหญ้าหรือดึงหญ้าจากดินขณะกินล้วนเป็นการทำให้ดินอัดแน่นมากขึ้น ดังนั้นแทนที่จะนำฟางไปเลี้ยงสัตว์ซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ฟางเหล่านั้นสามารถกลับคืนสู่ดินในรูปของปุ๋ยหมัก การนำเศษซากพืชมาทำปุ๋ยหมักเป็นการนำคาร์บอนกลับคืนสู่ดิน อินทรีย์วัตถุที่ใส่กลับคืนสู่ดินส่วนใหญ่จะสามารถย่อยสลายได้หมดในเวลาเพียงไม่กี่ปี จะมีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ย่อยสลายช้าและสามารถคงอยู่ได้หลายร้อยหรือหลายพันปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเติมคาร์บอนให้กับดินที่ใช้ทำการเพาะปลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกปี โดยเฉพาะในภูมิอากาศเขตร้อน ทั้งเพื่อการบำรุงดินและเพื่อดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศโลกกลับไปเก็บไว้ในดินอย่างต่อเนื่อง
โดยปกติ ดินในป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จะมีอินทรีย์สารอยู่ราวร้อยละ 6-10 ดินในเขตร้อนที่จัดว่าอุดมสมบูรณ์เพื่อการเกษตรควรมีอินทรีย์วัตถุผสมอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 (ร้อยละ 4-6 ในเขตอบอุ่น)3 แต่ดินในไร่เกษตรเคมีส่วนใหญ่จะมีอินทรีย์วัตถุอยู่เพียงราวร้อยละ 1-2 เป็นอย่างมาก อินทรีย์วัตถุในดินเหล่านี้เป็นตัวกักเก็บคาร์บอนในดิน ประมาณว่าดินทั้งหมดในโลกนี้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1.74 ล้านล้านตัน มากกว่าปริมาณที่ต้นไม้สามารถกักเก็บไว้ได้ถึง 2 เท่าของ (672,000 ล้านตัน)4 ดินที่มีการดูแลจัดการอินทรีย์วัตถุอย่างถูกต้อง สามารถเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกให้เป็นสารอาหารของพืชได้ ดินที่มีคาร์บอนอยู่มากสามารถกักเก็บน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นพืชให้มีสุขภาพดีกว่า รวมทั้งทนทานต่อความแห้งแล้ง ตลอดจนโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ดีกว่าด้วย
การเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้ดินมากขึ้น 1.5 เท่า สำหรับดินในภูมิภาคเขตร้อนชื้น (เพิ่มจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2.5) และเพิ่มขึ้น 3 เท่าสำหรับดินในภูมิภาคเขตอบอุ่น (เพิ่มจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 4) ในชั้นดินลึก 1 ฟุต (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่ายในระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ) ดินจะสามารถดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศให้ลดลงเหลือราว 350 ส่วนต่อล้านส่วน (parts per million-ppm) ตามที่องค์การนาซ่าได้ตั้งเป้าไว้5 หรือเทียบเท่ากับสามารถลดจำนวนรถยนต์บนถนนได้ 1 คันต่อที่ดินทุก 5 ไร่ที่เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ (คำนวนจากรถยนต์ที่ใช้งานเฉลี่ย 25,000 กม./ปี และกินน้ำมัน 8 กม./ลิตร6)
และท้ายที่สุด เนื่องจากระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพมีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตอาหารทั้งหมดเพียงร้อยละ 1-6 ที่ใช้ในระบบเกษตรเคมี จึงสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ภาคการเกษตรปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย หากมีการทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพอย่างกว้างขวาง อาจสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของภาคการเกษตรลงเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 5 หรือเหลือราว 1 ppm ต่อปี7
ดังนั้น ทุกคนจึงสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้ หากเราทุกคนร่วมมือกันคนละเล็กละน้อยในการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ ปลูกพืชหรือทำสวนครัวในบ้านด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพเพิ่มมากขึ้น และเกษตรกรเปลี่ยนมาทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ พวกเราจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ด้วยการดึงคาร์บอนกลับลงมาเก็บไว้ในดิน เปลี่ยนผลกระทบทางลบต่างๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูธรรมชาติที่ถูกทำลายไปได้ และนี้จะเป็นปฏิบัติการปฏิวัติเขียวแนวใหม่ของศตวรรษที่ 21
ความท้าทายสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร
ระบบเกษตรกรรมและอาหารถือเป็นฐานรากของระบบชีวิตของคน ชุมชน และสังคม การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารต้องมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสุขภาพร่างกาย จิตใจ และปัญญาของมนุษย์ สร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในยุคที่สังคมไทยและโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤตในหลายด้านพร้อมๆ กัน ทั้งวิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านพลังงาน วิกฤตด้านอาหาร วิกฤตด้านสุขภาพ และวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลจากภาวะโลกร้อน แต่หากประชากรในประเทศมีความมั่นคงและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนในเรื่องอาหารเป็นพื้นฐานแล้ว ปัญหาวิกฤตด้านอื่นๆ ก็จะทุเลาลงหรือได้รับการแก้ไขป้องกันไปด้วย แต่การจะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารได้นั้น ประชากรและผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านความคิด (paradigm shift) สู่แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเริ่มต้นที่การปฏิวัติเขียวแนวใหม่สู่วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมอาหารและอาชีพของสังคมไทย
เทคนิควิธีการและเทคโนโลยีต่างๆ ของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพล้วนมีการวิจัยทดลองและพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืนมาแล้วในหลายประเทศ หลายสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการปรับเปลี่ยนจากระบบเกษตรกรรมที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม มาสู่ระบบเกษตรกรรมที่สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศของธรรมชาติได้
แม้แต่ในประเทศไทยเอง ขณะนี้ก็มีกรณีตัวอย่างมากมายที่ได้เริ่มทำเกษตรกรรมด้วยระบบอินทรีย์พลังชีวภาพ ถึงแม้จะยังไม่เต็มรูปแบบก็ตาม ชาวบ้านที่ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ สามารถปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูงมากกว่า 2 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าผลผลิตข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงของบริษัทที่ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ถึง 2.3 เท่า และสูงกว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยของสหรัฐที่ใช้วิธีเกษตรเคมีแบบอุตสาหกรรมถึง 1.7 เท่า ทั้งที่ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรเลย ใช้เพียงเทคโนโลยีชีววิถีปลูกข้าวในระบบนิเวศนาทาม ใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่คัดพันธุ์เอง และน้ำหมักชีวภาพกับสมุนไพรควบคุมแมลงที่ทำขึ้นเอง8 ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกษตรกรไทยใช้ปลูกข้าวในอดีต และถูกแทนที่ไปเกือบหมดในปัจจุบันด้วยเกษตรเคมีที่ต้องพึ่งระบบชลประทาน และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยเมล็ดพันธุ์ลูกผสม
ตัวอย่างจากทั่วโลกยืนยันแล้วว่า วิธีการของเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพเป็นวิธีที่ทำได้และเหมาะสมที่จะทำ แต่การตัดสินใจลงมือทำนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินจากวิธีทำการเกษตรเคมีของเกษตรกรส่วนใหญ่ มาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพในระดับประเทศให้เป็นผลสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสองประการ คือ
- ความต้องการอย่างแรงกล้าของเกษตรกรเองที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการทำการเกษตรของตน
- การเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในระหว่างช่วงของการปรับเปลี่ยน
ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและเกษตรกร จำเป็นต้องปรับแก้นโยบายและแนวทางการส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร ลดและในที่สุดเลิกสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพื่อการเกษตร โดยเห็นแก่ความอยู่รอดของคนส่วนใหญ่และของโลกมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพิ่มการให้การศึกษาและความรู้กับประชาชนในทุกระดับและภาคส่วนในเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์และผลที่จะได้รับจากการทำเกษตรยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ สร้างเครื่องมือที่จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรในวงกว้างปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ และให้การอบรมวิธีการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพกับเกษตรกรและผู้สนใจ
แนวทางการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
แนวทางการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
โดยทั่วไป สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรกระแสหลักหรือเกษตรที่ใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ทั่วไปหรือเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพก็ตาม คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดตัวของเกษตรกรเอง เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น แต่เกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการดำรงชีวิตและการทำเกษตรแบบยั่งยืน ถึงแม้เกษตรกรบางรายอาจเปลี่นมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อหวังรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกระแสนิยมผลผลิตอินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและหลักการทำเกษตรให้เป็นระบบอินทรีย์แล้ว ก็คงรักษาความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ยาก และไม่ต้องพูดถึงการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพกันเลย
ในปัจจุบันยังมีเกษตรกรส่วนน้อยที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่าการไม่ใช้สารเคมีการเกษตรในทุกขั้นตอนของการผลิตจะสามารถให้มีผลผลิตที่สร้างรายได้พอเพียงไปใช้หนี้และเลี้ยงครอบครัวได้ หรือยังเคยชินกับความสะดวกสบายในการใช้สารเคมี เนื่องจากวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ เป็นวิธีการทำเกษตรที่ต้องใช้แรงงานและความใส่ใจในการทำและดูแลมากกว่าการทำเกษตรเคมีที่เกษตรกรส่วนใหญ่เคยชิน ดังนั้นหากเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีอยู่เดิมและสนใจจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรมาทำเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่แน่ใจในความเป็นไปได้และผลสำเร็จ ขอแนะนำให้เริ่มปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มด้วยการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพกับพื้นที่บางส่วนก่อน เพื่อจะได้เรียนรู้ลองผิดลองถูก และสั่งสมทักษะไปจนเมื่อทำได้ดีแล้วจึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ออกไปจนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ต้องหันสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบริเสณแปลงปลูกให้ดี เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ จำเป็นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกสภาพแวดล้อม เกษตรกรจำเป็นต้องทำความเข้าใจหลักการหรือศาสตร์ให้ถูกต้อง และใช้ศิลปะในการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพธรรมชาติของแต่ละพื้นที่
สำหรับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว การปรับเปลี่ยนให้มาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะทำได้ง่ายมากขึ้น โดยเริ่มการปรับเปลี่ยนตอนที่จะปลูกพืชรอบใหม่ด้วยการขุดพรวนดินให้ลึกอย่างน้อย 60 ซม. ถึง 1 เมตร และใส่ปุ๋ยบำรุงดินตามขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูกของเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ ถ้าหากสามารถตรวจดินเพื่อให้ทราบคุณภาพของดินที่เป็นอยู่ ก็จะช่วยให้สามารถใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารที่ขาดในดินได้ถูกต้องมากขึ้น ที่เหลือก็เป็นการดูแลจัดการระบบการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับการทำงานของธรรมชาติ หมั่นสังเกตุสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้รที่แปลงปลูก เพื่อจะได้เข้าใจสภาพแสดล้อมและระบบนิเวศของแปลงปลูกแต่ละแปลง
ถึงแม้วิธีการของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะเน้นการทำเกษตรเพื่อพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ส่วนเกินจึงนำไปขายสร้างรายได้ จึงเสริมได้ดีกับวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับวิธีการของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะเน้นการใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อย แต่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่มากทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นระบบการทำเกษตรกรรมที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่มีพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่ใหญ่มาก
แต่กระนั้น หากมีความเข้าใจหลักการพื้นฐานของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพอย่างดีแล้ว ก็สามารถนำระบบการทำเกษตรกรรมวิธีนี้ไปปรับใช้กับการจัดการพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ในธุรกิจการเกษตรได้ และสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจภาคการเกษตรจะปรับเปลี่ยนจากวิธีการทำเกษตรแบบเคมีเชิงอุตสาหรรมมาใช้ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ เพราะการปลูกพืชเชิงเดียวในพื้นที่กว้างด้วยวิธีเกษตรเคมีตามที่เป็นอยู่ เป็นตัวการสำคัญในการทำลายดินอย่างรวดเร็ว และสร้างก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย แต่ก็จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยหาวิธีการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพที่เหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจแต่ละประเภท และให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ทำอยู่
?…อย่ามองและจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน เป็นเรื่องที่แยกขาดโดยสิ้นเชิงกับการลดความยากจนและการบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ ถ้าเรามองข้ามและละเลยสิ่งพื้นฐานที่สุดของชีวิตบนโลกใบเดียวที่เราต้องอาศัยอยู่ เราจะไม่มีทางได้เห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเลย?
– เฮเลน คลาร์ก. ผู้อำนวยการบริหาร UNDP
?การทำเกษตรอินทรีย์นำไปสู่การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมธรรมชาติอย่างมากมาย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำของดิน เพิ่มระดับน้ำใต้ดิน … ลดการกัดเซาะของดิน พร้อมไปกับการเพิ่มขึ้นของอินทรีย์วัตถุในดิน นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอนของดิน และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ?
– UNEP-UNCTAD: Organic Agriculture and Food Security in Africa
รวบรวมและเรียบเรียง ? ทัศนีย์ เศรษฐ์บุญสร้าง
tatsanee@NawaChiOne.org
? สงวนลิขสิทธิ์
อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาที่ไม่เป็นธุรกิจ แต่ขอให้อ้างอิงแหล่งที่มาด้วย
????????????????????????????????
เชิงอรรถ
1 John Jeavons (2002), idib.
2 Rodale Institute, Regenerative Organic Farming: A Solution to Global Warming, 2008
3 Rodale Institute, 2008, ibid.
4 Ibid.
5 Climate Change and Grow Biointensive, Ibid.
6 คำนวนจากตัวเลขในรายงานของ Rodale Institute, Ibid.
7 Rodale Institute, 2008, ibid.
8 มูลนิธิชีววิถี, Ibid.