บทความ: เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
- เกริ่นนำ: อนาคตอยู่ในมือเรา
- บทที่ 1: พลังชีวภาพกับการเกษตร
- บทที่ 2:ระบบการทำเกษตรเพื่ออนาคต
- บทที่ 3:หลักสำคัญ 3 ประการ ของระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
- ทำความรู้จักกับพลังชีวภาพ
- พลังชีวภาพที่เป็นรูปธรรม
- พลังชีวภาพที่เป็น ?พลังชีวิต?
- วิทยาศาสตร์ของพลังชีวิต
- เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
————————————————————————————————
?การเลี้ยงคนมากว่า 6,000 ล้านคน ? และจะมากกว่า 9,000 ล้านภายในปี ค.ศ. 2050 ? ต้องมีระบบเกษตรกรรมที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ซึ่งต้องไม่ได้ให้เพียงผลผลิตด้านอาหาร แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยธรรมชาติที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เช่น ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และองค์ประกอบดิน ที่เป็นหัวใจของการเกษตร การจะใช้ระบบเกษตรกรรมแบบ ?อุตสาหกรรม? ของศตวรรษที่ 20 เป็นทางออกเดียวในการแก้ปัญหาของศตวรรษที่ 21 จะไม่สามารถช่วยเราได้?
-UNEP-UNCTAD: เกษตรกรรมอินทรีย์และความมั่นคงด้านอาหารในอัฟริกา
ภูมิปัญญาของโลกตะวันออกเชื่อเสมอมาว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อความอยู่รอด สำหรับคนโบราณแล้ว การเกษตรถือเป็นส่วนเดียวกับวิถีการดำเนินชีวิต ระบบเกษตรกรรมเป็นวัฒนธรรมของชุมชน หากศึกษาจากกระบวนการของธรรมชาติ เราจะเห็นได้ว่าปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่พวกเราชาวโลกกำลังเผชิญอยู่ ความจริงแล้วสามารถเริ่มต้นแก้ไขได้เพียงด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำเกษตรกรรม จากการพึ่งพาสารเคมีและพลังงาน มาสู่แนวทางการเกษตรที่เข้าใจกระบวนการของธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับกลไกทางชีวภาพของธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตจากที่ผลาญทรัพยากรมาสู่วิถีพอเพียง เปลี่ยนจากการพึ่งพาผู้อื่นมาสู่การพึ่งพาตัวเอง เพียงการเริ่มต้นจากการดูแลเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินตามกระบวนการทางชีวภาพของธรรมชาติ และจัดการสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับระบบการทำงานของพลังชีวภาพในธรรมชาติ ก็จะสามารถขับเคลื่อนฟันเฟืองของกลไกธรรมชาติในการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่ความสมดุลตามธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ได้
ทำความรู้จักกับพลังชีวภาพ
ปัจจุบันคำว่า ?พลังชีวภาพ? ถูกนำมาใช้กันในหลากความหมายและหลายมิติ บ่อยครั้งก็เป็นการใช้เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการขายสินค้าเท่านั้น ส่วนใหญ่ในด้านการเกษตรจะคุ้นกับคำว่า ?ชีวภาพ? ที่หมายถึงผลผลิตที่ได้จากกระบวนการทำงานของจุลินทรีย์ เช่นน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น สำหรับความหมายของ ?พลังชีวภาพ? ในระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพนี้ จะครอบคลุมทั้งในมิติของกระบวนการชีวภาพในระบบนิเวศที่เป็นรูปธรรม อย่างการทำงานของจุลินทรีย์ที่สามารถเห็นได้ผ่านกล้องจุลทรรศน์ และในมิติที่เป็น ?พลังชีวิต? ซึ่งมองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ แต่สามารถอธิบายและพิสูจน์ให้เห็นความมีอยู่จริงได้ผ่านตัวกลางบางอย่าง ซึ่งฟิสิกส์ยุคใหม่เพิ่งจะเริ่มเข้าใจและเห็นความสำคัญของพลังชีวิตที่มองไม่เห็นเหล่านี้
พลังชีวภาพที่เป็นรูปธรรม
ผู้ที่อยู่ในแวดวงการเกษตรจะเข้าใจดีว่า การบำรุงรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์เหมือนดินในป่าจะช่วยให้พืชแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชเองโดยไม่ต้องพึ่งยาเคมี ความหมายของคำว่าพลังชีวภาพที่เป็นรูปธรรมก็คือ การใช้จุลินทรีย์มาช่วยในการปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ หรือจุลินทรีย์พิเศษที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตหรือเพิ่มความต้านทานโรคของพืช เพราะในกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินของจุลินทรีย์ จะมีการปลดปล่อยธาตุอาหารต่างๆ มากมายสำหรับพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในดิน จุลินทรีย์ในดินสามารถตรึงธาตุอาหารของพืชจากอากาศหรือดูดซับจากหินแร่ในดินด้วยกระบวนการชีวภาพ แล้วเปลี่ยนอากาศและหินแร่ในดินด้วยกระบวนการทางชีวเคมีให้เป็นแร่ธาตุชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยฟื้นฟูคุณภาพดินทั้งด้านชีวภาพ กายภาพ และชีวเคมี และเป็นสารอาหารที่พืชและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ ในดินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ดิน 1 ช้อนชาปานเรียบ มีจุลินทรีย์อยู่มากกว่า 6,000 ล้านตัว
หรือพอๆ กับประชากรทั้งหมดบนโลกใบนี้
ในระบบนิเวศของป่าซึ่งดินมีความอุดมสมบูรณ์และมีสภาพสมดุล จะมีสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่มากมายอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ร่วมกับรากของพืชหลากหลายชนิดที่เจริญเติบโตอยู่ในดิน การกินอาหารหรือย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินของจุลินทรีย์หลายร้อยพันชนิดที่อาศัยอยู่ในดิน เป็นกระบวนการทางชีวเคมีที่เกิดผลเป็นสารชนิดต่างๆ ที่กลายเป็นอาหารสำหรับพืช และปรับโครงสร้างดินให้เหมาะกับการเติบโตของรากพืช พืชยืนต้นที่มีรากลึกสามารถชอนไชไปดูดธาตุอาหารจากดินชั้นล่างที่อยู่ลึกลงไปขึ้นมาเลี้ยงใบและลำต้นได้ เมื่อใบไม้ร่วงลำต้นตายก็ทับถมเน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยหมักอยู่บนดิน ก็ปลดปล่อยธาตุอาหารที่ได้มาจากดินชั้นล่างมาไว้ที่หน้าดินชั้นบน เมื่อฝนตกน้ำฝนก็ช่วยซะธาตุอาหารจากหน้าดินให้ซึมลงสู่ดินชั้นล่าง เป็นวงจรของธาตุอาหารที่มีอยู่เฉพาะในดินระดับลึกชั้นล่างเท่านั้น การกินอาหารหรือย่อยสลายอินทรีย์วัตถุของจุลินทรีย์ในดินที่เป็นกระบวนการทางชีวเคมี สามารถสร้างสารตัวใหม่ที่ไม่มีอยู่ในดินมาก่อน และเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชได้ เมื่อจุลินทรีย์หรือสัตว์ที่อาศัยในและบนดินตายลง ซากที่เหลือก็กลายเป็นอาหารให้สิ่งมีชีวิตอื่นรวมทั้งพืช พืชก็กลายเป็นอาหารของสัตว์ และมนุษย์ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น วงจรทางชีวภาพหรือใยอาหารที่สมดุลในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ระหว่างดิน พืช สัตว์ และคน นั่นเอง
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการเพิ่งจะเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรชีวภาพที่เป็นรูปธรรมก็คือ พืช สัตว์ และมนุษย์ ต้องการธาตุอาหารและแร่ธาตุต่างๆ มากกว่า 100 ชนิดเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุที่เป็นจุลสาร (trace elements) หลายชนิด ที่พืชและร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยมาก ขนาด 0.0001% หรือน้อยกว่าเท่านั้น แต่หากขาดไปก็จะทำให้ระบบทำงานได้ไม่ปกติ ซึ่งผิดกับที่เข้าใจกันมาแต่เดิมว่าธาตุอาหารที่จำเป็นมีเพียงราว 16-20 ชนิดเท่านั้น1 ? พืชต้องการสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอและสมดุล คือไม่มากหรือน้อยเกินไป ถ้าพืชได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะเกิดอาการขาดสารอาหาร แต่ถ้าได้รับมากเกินไปสารอาหารนั้นก็จะเป็นพิษต่อพืชได้ นอกจากนั้นการขาดสารอาหารบางตัวอาจปรากฏผลเหมือนกับการเป็นพิษจากการได้รับสารอาหารอีกตัวมากเกินไป และในบางกรณี การได้รับสารอาหารบางตัวมากเกินไปก็สามารถส่งผลทำให้พืชขาดธาตุอาหารตัวอื่นได้ หรือการได้รับธาตุอาหารบางตัวน้อยเกินไปก็อาจส่งผลต่อการดูดซึมของสารอาหารตัวอื่นได้
จะเห็นได้ว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวโยงกับธรรมชาติ ?ความสมดุล? ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย สำหรับธรรมชาติ การมีมากหรือให้มากไม่ได้หลมากความว่าจะได้ผลมากตามไปด้วย ยิ่งถ้ามีมากจนเกินพอดีกลับจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีได้ ประเด็นนี้เป็นข้อที่ควรตระหนักอย่างยิ่งสำหรับการนำจุลินทรีย์มาใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่ทำขายเป็นธุรกิจมีการคัดประเภทและเพาะเชื้อให้แข็งแรงเป็นพิเศษ ขยายเชื้อให้เข้มข้นหรือมีจำนวนมากๆ เพราะต้องการเพิ่มประสิทธิผล การใส่จุลินทรีย์ปริมาณมากๆ ลงในดินในระยะแรกๆ ที่ดินยังขาดจุลินทรีย์ก็อาจเห็นผลดีอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าใช้เพิ่มต่อไปในระยะยาวอาจทำให้เกินผลเสียทั้งกับดินและพืชที่เพาะปลูกได้
นอกจากนี้ในระบบเกษตรธรรมชาติจะสนับสนุนการใช้เฉพาะจุลินทรีย์ในท้องถิ่น (Indigious Micro-Organisms, IMOs) เท่านั้น จุลินทรีย์ในท้องถิ่นจะหมายถึงจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 3 กม.จากจุดที่ใช้ สาเหตุเพราะจุลินทรีย์ที่อยู่ในท้องถิ่นเป็นผลจากการค้ดพันธุ์โดยธรรมชาติ มีการปรับตัวจนสามารถเข้ากับสภาพแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของท้องถิ่นนั้นเรียบร้อยแล้ว จุลินทรีย์หัวเชื้อที่ทำขายเป็นธุรกิจถือเป็นจุลินทรีย์ต่างถิ่น และการนำจุลินทรีย์ต่างถิ่นมาใช้จึงเป็นการทำลายสมดุลธรรมชาติในระบบนิเวศของท้องถิ่น ทำให้จุลินทรีย์ต่างถิ่นต้องปรับตัวหรือกลายพันธุ์เพื่อให้สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ รวมทั้งระบบนิเวศในบริเวณนั้นก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อหาสมดุลใหม่ให้สามารถรองรับการเข้ามาอาศัยของแขกแปลกหน้าทั้งหลายให้ได้
ในเรื่องแหล่งที่มาของแร่ธาตุสารอาหารในดิน เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์การเกษตรและวงการแพทย์อาจยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรกับปัจจัยเชิงคุณภาพของธาตุอาหาร นักวิทยาศาสตร์การเกษตรหลายค่ายจึงยังเชื่อว่าธาตุอาหารต่างๆ เมื่อแตกตัวเป็นระดับโมเลกุลเดี่ยวแล้ว ไม่ว่าจะมาจากอินทรีย์วัตถุหรือเคมีสังเคราะห์ ก็กลายเป็นอนินทรีย์สารโมเลกุลเดี่ยวเหมือนกันหมด เพราะพืชหรือร่างกายคนเราจะดูดธาตุอาหารต่างๆ ไปใช้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในรูปโมเลกุลเดี่ยวเท่านั้น เช่น เป็นไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปตัสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) โซเดียม (Na) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้ยังมีการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรกันอย่างแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้
วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่า ในความเป็นจริง ธาตุอาหารที่พืชและร่างกายคนเราจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น หากเป็นธาตุอาหารอินทรีย์ (bio-nutruients) หรือธาตุอาหารจากพืช (phyto-chemicals) จะมีสารชีวภาพที่เซลล์สามารถดูดซึมไปใช้ได้ (bioavailability) ถึงร้อยละ 98 ขณะที่ธาตุอาหารที่เป็นเคมีสังเคราะห์มีสัดส่วนที่เซลล์จะสามารถดูดซึมไปใช้ได้เพียงร้อยละ 8-12 เท่านั้น2 ดังนั้นเคล็ดลับของความมีสุขภาพดีของคน สัตว์ และพืช ก็คือระดับของสารชีวภาพที่ร่างกายหรือพืชสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ การจะได้รับประโยชน์จากสารอาหารที่กินเข้าไปอย่างเต็มจึงควรกินสารอาหารที่มาจากพืชที่เติบโตตามธรรมชาติหรือปลูกด้วยวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งก็คือปลูกในดินที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่อาจมองข้ามคุณภาพและความสำคัญของดินได้เลย
ระบบชีวภาพของธรรมชาติจะเป็นลักษณะวงจรที่สมดุล เมื่อนำสิ่งหนึ่งออกไปก็มีกระบวนการนำกลับมาใช้คืนให้เพื่อรักษาความสมดุลของระบบชีวภาพองค์รวม แต่วิธีการทำเกษตรในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการเก็บเกี่ยวธาตุอาหารจากดิน เหมือนเป็นการทำเหมืองกับดิน มีการนำแร่ธาตุสารอาหารออกไปจากดิน แต่ไม่นำกลับมาคืนให้กับดินเท่าที่เอาออกไปเพื่อรักษาความสมดุลของระบบชีวภาพของดิน หากคนเราต้องมีสุขภาพที่ดี อย่างน้อยก็ต้องคืนแร่ธาตุสารอาหารที่ร่างกายต้องการกลับคืนสู่ดิน เพื่อให้ดินมีแร่ธาตุสารอาหารเหล่านั้นอยู่ในผลผลิตอาหารที่เรากิน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการทำร้ายอนาคตของตัวเองและลูกหลาน รวมทั้งทุกสรรพสิ่งบนโลก ดังที่เป็นอยู่
พลังชีวภาพที่เป็น ?พลังชีวิต?
ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์สาขาเมตาฟิสิกส์ยุคใหม่พิสูจน์แล้วว่า ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนประกอบด้วยอนุภาคที่เล็กที่สุดที่มีการสั่นไหวอยู่ตลอดเวลา และก่อให้เกิดพลังงานในรูปของคลื่นซึ่งมีได้หลายลักษณะแตกต่างกัน รวมถึงคลื่นที่เรารู้จักกันทั่วไปคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ก็มีคลื่นอีกหลายลักษณะที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้ประกอบรวมอยู่ด้วย คลื่นเหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและมีอิทธิพลซึ่งกันและกันตลอดเวลา มากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะและกำลังของคลื่น เมื่อคลื่นเหล่านี้มาพบกันก็จะมีการปรับสมดุลคลื่นทั้งความถี่ และกำลังคลื่น โดยคลื่นที่แรงกว่าสามารถมีอิทธิพลเหนือคลื่นที่อ่อนกว่า การปรับสมดุลของคลื่นจึงมีทั้งการเสริมหรือประสาน และการหักล้างกันเอง เพื่อสร้างสมดุลขององค์รวมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้คล้ายกันมากกับลักษณะของพลังธรรมชาติหรือพลังชีวิตที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อี้จิงโบราณอายุกว่า 3,000 ปีของจีน
ต้นกำเนิดของจักรวาล แม่ของสรรพสิ่ง
รู้จักแม่ก็รู้จักลูก
รู้จักลูกไม่ทิ้งแม่– เต๋า เต็ก เก็ง –
คัมภีร์อี้จิงโบราณของจีน (1122 ปีก่อนคริสต์กาล) กล่าวไว้ว่า ?สรรพสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรไม่เชื่อมโยงกัน และไม่มีอะไรไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน? ชาวจีนโบราณเชื่อในเรื่องความสมดุลของสรรพสิ่งในธรรมชาติ โดยมีพลังชีวภาพของธรรมชาติ หรือ ?พลังชีวิต? ที่ภาษาจีนกลางเรียกว่า ?ชี่? จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า ?ขี่? คนญี่ปุ่นเรียกว่า ?กิ? (Ki) ซึ่งหมายถึงสิ่งเดียวกับ ?ปราณ? (Prana) ในภาษาสันสกฤต หรือ ?นูมา? (Pneuma) ในภาษากรีก พลังชีวภาพธรรมชาติหรือพลังชีวิตในความหมายนี้จะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในร่างกายมนุษย์และทุกสรรพสิ่งในจักรวาล อารยธรรมโบราณทั่วโลกตั้งแต่อียิปต์ บาบีโลน เปอร์เซีย กรีก โรมัน จีน และอินเดีย ล้วนมีการกล่าวถึงการใช้พลังชีวิตและสมดุลของธรรมชาติทั้งสิ้น คนโบราณมองว่าทุกสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนมีชีวิต คือ มีพลังชีวิตหรือปราณของตัวเอง แม้แต่วัตถุธาตุต่างๆ ที่เราจัดว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ในนัยยะนี้ก็ถือว่าล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตและมีพลังชีวภาพไหลเวียนอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น รวมถึงดวงดาวทั้งหลาย ภูเขา ก้อนหิน แม่น้ำ ก้อนเมฆ วัตถุสิ่งของต่างๆ และอะตอมทุกอะตอม และแน่นอนว่าต้องรวมถึง มนุษย์ทุกคน สัตว์ และ พืชทุกชนิดด้วย ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อี้จิงว่า ?ไม่มีสิ่งใดในจักรวาลนี้สามารถแยกขาดเป็นปัจเจกอย่างสมบูรณ์โดยไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเลย และไม่มีชี่ของสิ่งใดไม่เคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนกับชี่ของสิ่งอื่น?
นักวิทยาศาสตร์สายเมตาฟิสิกส์ได้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของพลังชีวภาพธรรมชาติหรือพลังชีวิตตามนัยยะนี้ จนเข้าใจและยอมรับในความมีอยู่จริงของพลังที่มองไม่เห็นเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าพลังชีวภาพหรือพลังชีวิตตามนัยยะนี้มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ละเอียด บางส่วนมีความถี่ในช่วงของคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟาเรด และบางส่วนก็ละเอียดมากจนเครื่องมือในปัจจุบันไม่สามารถตรวจจับได้ แต่สามารถเห็นผลจากการกระทำของพลังธรรมชาติที่ละเอียดนี้ได้ และได้อธิบายว่าพลังชีวิตที่ว่านี้ ก็คือพลังงานรอบๆ ตัวเราที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดในการก่อรูปและประคองรักษาความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ทุกสรรพสิ่งในจักวาลจะมีการถ่ายโอนแลกเปลี่ยนพลังชีวิตระหว่างกันอยู่เสมอ และการเปลี่ยนแปลงของพลังชีวิตนี้เองที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งในจักรวาลและปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลาย ฤดูกาลต่างๆ ก็เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของพลังชีวิตในธรรมชาติตามนัยยะนี้ และโดยธรรมชาติ ถ้าพลังชีวิตของสิ่งหนึ่งสมดุล ก็จะทำให้พลังชีวิตของสิ่งอื่นๆ ดีไปด้วย แต่ถ้าพลังชีวิตของสิ่งหนึ่งเกิดเสียสมดุล ก็จะส่งผลต่อพลังชีวิตของสิ่งอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ถ้าสรรพสิ่งมีความสมดุล พืชพันธุ์ไม้ก็เจริญงอกงาม ฝนฟ้าก็ตกตามฤดูกาล ผู้คนก็จะไม่เจ็บป่วย ดังนั้นความมีสุขภาพดีของทุกชีวิตในจักรวาล จึงขึ้นอยู่กับความสมดุล ความผสมผสานกลมกลืน และการแลกเปลี่ยนกันอย่างพอดี ระหว่างพลังชีวิตของตัวเองกับพลังชีวิตของสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้พบและยอมรับแล้วว่า ร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งต้นพืช สามารถผลิตคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชีวภาพขึ้นเองได้ด้วยกระบวนการทางชีวเคมี และเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเซลล์ทั้งหลาย เนื่องจากเซลล์ต่างๆ ในร่างกายหรือต้นพืชต้องมีการติดต่อสื่อสารส่งผ่านข้อมูลสำคัญๆ และพลังงานไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในส่วนต่างๆ เหมือนมีสายโทรศัพท์ที่เซลล์ใช้ส่งผ่านข้อมูลเป็นโครงข่ายซับซ้อนอยู่ทั่วร่างกายและในต้นพืช เซลล์ต่างๆ ส่งผ่านข้อมูลถึงกันและกันโดยอาศัยปฏิกิริยาชีวเคมีเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างจุดเชื่อมต่อเซลล์ ซึ่งปฏิกิริยาชีวเคมีหล่านี้จะทำให้เกิดประจุไฟฟ้า เป็นผลทำให้มีกระแสไฟฟ้าวิ่งจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง นอกจากนี้เซลล์ต่างๆ ยังมีระบบการสื่อสารแบบชีวภาพผ่านฮอร์โมนและเอ็นไซม์ด้วย โดยเซลล์ที่ผลิตฮอร์โมนหรือเอ็นไซม์ (อย่างต่อมไร้ท่อต่างๆ ในคน) จะส่งฮอร์โมนที่เปรียบเหมือนเป็นรหัสข้อมูลไปสู่เซลล์เป้าหมายในส่วนต่างๆ ผ่านทางกระแสเลือดในคนและสัตว์ และผ่านท่อลำเลียงอาหารในพืช
ลักษณะธรรมชาติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่างชนิดกันเข้าใกล้กันก็จะส่งผลต่อกันและกัน เหมือนคลื่นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ใกล้กันหรือใกล้คลื่นวิทยุโทรทัศน์ ก็จะสามารถไปรบกวนคลื่นของกันและกันได้ ในทำนองเดียวกัน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ มากมายในสภาพแวดล้อมก็ส่งผลบางอย่างกับต้นไม้พืชผักในบริเวณนั้นเช่นเดียวกัน เพียงแต่เราไม่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นเหล่านี้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบแวดล้อมมาสะท้อนความมีอยู่หรือผลกระทบจากการกระทำของคลื่นหรือพลังชีวิตเหล่านี้ เช่น ได้ยินเป็นเสียงรบกวนในวิทยุ หรือทำให้ภาพบนจอโทรทัศน์ไม่คมชัด เป็นต้น
สิ่งมีชีวิตทุกชนิด หรือเซลล์ที่มีชีวิตทุกเซลล์ มีพลังชีวภาพหรือพลังชีวิตของตัวเอง ระดับของพลังชีวิตในแต่ละเซลล์จะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงสมบูรณ์หรือความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ตามหลักของจีนโบราณ พลังชีวภาพ หรือพลังชีวิต หรือพลังชี่ หรือพลังปราณ ของสิ่งหนึ่งจะถูกดึงและถูกดูดจากพลังชีวิตของสิ่งอื่นๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา พลังชีวภาพทุกชนิดจึงต้องพยายามรักษาและปรับสมดุลของตัวเองอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ เมื่อใดที่พลังชีวิตของสิ่งหนึ่งเกิดเสียสมดุล ธรรมชาติก็จะหาวิธีการปรับเพื่อให้กลับสู่สมดุลขององค์รวม ซึ่งการปรับสมดุลพลังชีวิตในธรรมชาติจะปรากฎเป็นการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ฝนตก ฟ้าร้อง ฯลฯ นั้นเอง หากเกิดการเสียสมดุลขององค์รวมยิ่งมาก เช่นการที่มนุษย์ได้เผาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างมหาศาลเพื่อใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนสังคมอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เป็นอยู่ ธรรมชาติก็จะหาวิธีการปรับเพื่อให้พลังชีวิตองค์รวมกลับสู่สมดุล เกิดผลเป็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เมื่อมีการเสียสมดุลยิ่งมาก ระดับการเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย จึงปรากฏเป็นพิบัติภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่
ทุกสิ่งบนโลกเป็นส่วนหนึ่งในปรากฏการณ์ปรับสมดุลของธรรมชาตินี้ กระแสของพลังชีวิตที่ไหลเวียนอยู่ภายในทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามการแปรเปลี่ยนของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ เหมือนที่แรงดึงดูดของดวงจันทร์สามารถมีอิทธิพลก่อให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงบนโลก ร่างกายของคนเรารวมทั้งสัตว์และพืชทั้งหลายซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ ก็ย่อมได้รับอิทธิพลจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ในทำนองเดียวกันด้วย แรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่เต็มดวงทำให้พลังชีวภาพภายในของสิ่งมีชีวิตบนโลกเพิ่มขึ้น มีผลไปกระตุ้นให้ระบบต่างๆ ภายในทำงานมากขึ้น หรือเวลาที่พายุรังสีสุริยะจากดวงอาทิตย์มีความรุนแรง จะรบกวนสัญญาณวิทยุโทรทัศน์บนโลก คลื่นสัญญาณเหล่านี้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคล้ายคลื่นของพลังชีวิต รังสีสุริยะจึงมีผลกับพลังชีวิตของสิ่งต่างๆ บนโลกด้วย การเปลี่ยนฤดูกาลก็มีผลกับการทำงานของพลังชีวภาพเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของคนเราก็เป็นพลังชีวิตลักษณะหนึ่ง และสามารถส่งผลต่อความสมดุลของพลังชีวภาพภายในและรอบๆ ตัวด้วย
พืชและสัตว์ที่เติบโตจากอาหารและสภาพแวดล้อมที่มีพลังชีวภาพที่ดี จะสามารถส่งต่อพลังชีวิตที่เก็บสะสมไว้ให้แก่กันได้ การนำเศษซากพืชมาทำปุ๋ยหมักก็เป็นการนำพลังชีวภาพหรือพลังชีวิตที่หลงเหลืออยู่ในอินทรีย์วัตถุเหล่านั้นกลับคืนไปสู่ดินเพื่อส่งต่อให้กับพืชนั้นเอง ดังนั้นในมุมมองด้านพลังชีวภาพ แก่นแท้ของคุณภาพอาหารจึงอยู่ที่ระดับพลังชีวิตหรือปราณในอาหาร แต่พลังชีวิตในอาหารไม่สามารถตรวจวัดได้ด้วยหลอดทดลอง จึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจเข้าใจได้ด้วยระดับความรู้เชิงโภชนาการตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน สารอาหารต่างๆ ในเชิงโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นแคลอรี่ของคาร์โบไฮเครต หรือโปรตีน หรือแม้แต่วิตามิน หากพิจารณาตามหลักการนี้ ล้วนถือเป็นกากที่แยกพลังชีวิตออกไปแล้ว สารอาหารต่างๆ จะถูกนำไปบำรุงเลี้ยงส่วนที่เป็นกายภาพของร่างกาย แต่พลังชีวภาพในอาหาร หรือพลังชีวิตหรือปราณของอาหาร จะไปบำรุงเลี้ยงจิตใจหรือจิตวิญญาณ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิต เพราะหากเข้าใจการทำงานของจิตแล้ว เราจะรู้ว่าจิตเป็นตัวสั่งงานร่างกาย ไม่ใช่ร่างกายสั่งงานจิต ตามคำกล่าวที่ว่า ?จิตคุมกาย? หรือ ?จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว?
เรื่องของพลังชีวภาพหรือพลังชีวิตถือเป็นมรดกอันล้ำค่าจากภูมิปัญญาของคนโบราณ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องงมงายในยุคศตวรรษที่ 20 แต่ความรู้ทางนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันที่เราคิดว่าก้าวหน้ามาก ก็เพิ่งจะเริ่มเข้าใจถึงความลึกซึ้งและซับซ้อนของวิชาการโบราณเหล่านี้ จนการค้นพบใหม่ๆ ของวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน มักเกิดขึ้นจากการกลับไปศึกษาทำความเข้าใจวิธีการของคนโบราณนั้นเอง เช่นเดียวกับการค้นพบพลังชีวภาพธรรมชาติที่เปิดวิสัยทัศน์สู่การมองและเข้าโลกที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
วิทยาศาสตร์ของพลังชีวิต
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจะรู้ว่าน้ำ (H2O) มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าภายนอก3 และเนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดและวัตถุอีกมากมาย นักวิทยาศาสตร์จึงมักนิยมใช้น้ำเป็นตัวทดสอบผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อสิ่งต่างๆ
นักวิทยาศาสตร์ด้านน้ำชาวญี่ปุ่นชื่อ ดร.มาซารุ เอะโมโตะ ได้สนใจศึกษาถึงผลของคลื่นพลังทั้งด้านบวกและด้านลบหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าลักษณะต่างๆ ที่มีต่อน้ำ โดยอาศัยข้อเท็จจริงของ ธรรมชาติที่ว่า เกร็ดหิมะ (snow flake) แต่ละเกร็ดที่ตกลงมาจากฟ้าเป็นล้านๆ เกร็ดนั้น แต่ละเกร็ดจะไม่มีลวดลายที่ซ้ำกันเลย จึงได้ทดลองนำน้ำไปแช่แข็งแล้วถ่ายภาพผลึกของน้ำ ซึ่งก็พบว่าน้ำจากแหล่งที่ต่างกันจะมีลวดลายของผลึกน้ำที่ไม่เหมือนกัน เขาจึงเริ่มเก็บตัวอย่างน้ำจากที่ต่างๆ และทดลองนำ เมื่อนำน้ำไปผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติแวดล้อมและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบดูลักษณะความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับผลึกน้ำก่อนและหลังได้รับคลื่นพลังชีวภาพลักษณะต่างๆ เช่น เสียงดนตรีประเภทต่างๆ (แสง สี เสียง เป็นคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทหนึ่ง) นำเสียงของคำพูดที่มีอารมณ์และความหมายแตกต่างกัน หรือรูปภาพลักษณะต่างๆ และแม้แต่ภาชนะบรรจุที่ทำจากวัสดุที่แตกต่างกัน ผลจากการทดลองของเขาทำให้เขาต้องตะลึงและมหัศจรรย์ใจกับผลของพลังธรรมชาติที่เกิดกับน้ำ ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของผลึกน้ำในแต่ละกรณี
ดร.เอะโมโตะพบว่า ผลึกของน้ำจากธรรมชาติที่แวดล้อมด้วยพลังธรรมชาติด้านบวก เช่น น้ำจากต้นน้ำลำธารท่ามกลางธรรมชาติ จากบ่อน้ำพุธรรมชาติในวัด หรือหิมะจากยอดเขาสูง เป็นต้น หรือน้ำที่ได้รับพลังธรรมชาติด้านบวกหรือมีภูมิต้านทานที่ดี จะมีโครงสร้างเป็นรูปทรง 6 เหลี่ยมที่มีลวดลายสวยงามและสมมาตรกัน คล้ายกับลักษณะและลวดลายของเกร็ดหิมะในธรรมชาติ ซึ่งเป็นรูปทรงพื้นฐานที่น้ำทุกประเภทจะพยายามปรับตัวเองให้เป็นหรือให้เกิดขึ้นเมื่อได้รับพลังธรรมชาติด้านบวก ส่วนน้ำที่สัมผัสหรือแวดล้อมด้วยพลังธรรมชาติด้านลบหรือรับพลังธรรมชาติด้านลบยิ่งมาก เช่น น้ำในแม่น้ำลำธารที่ไหลผ่านชุมชนโดยเฉพาะแหล่งอุตสาหกรรม น้ำจากบ่อน้ำเสีย หรือแม้แต่น้ำประปาในเมืองใหญ่ เป็นต้น ก็ยิ่งไม่เป็นรูปทรง หรือรูปทรงไม่สมมาตร ลวดลายไม่น่าดูหรือดูน่าเกลียด
ที่มา:?http://www.hadousa.com/
หากพลังลักษณะต่างๆ แม้แต่น้ำเสียงจากคำพูดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้คิดเป็นประจำ ก็สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับน้ำได้มากมายและแจ่มชัดตามที่เห็นจากผลการศึกษาทดลองกับผลึกน้ำเหล่านี้ และในเมื่อโลกของเราและร่างกายของคนเราประกอบด้วยน้ำถึง 70% ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วและเริ่มแบ่งตัวเจริญเติบโตพัฒนาเป็นทารกในครรภ์ประกอบด้วยน้ำถึง 95% สัตว์ต่างๆ และต้นไม้ พืชผักผลไม้ที่เป็นอาหารของคนเราก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบด้วยกันทั้งสิ้น ก็ลองคิดดูกันเอาเองว่าพลังชีวภาพต่างๆ ที่อยู่รอบและในตัวของเราจะมีผลต่อเรา หรือต่อสรรพสิ่งรอบตัวเราได้อย่างไรบ้างและมากน้อยขนาดไหน
พวกเราคงเคยได้ยินเรื่องการทดลองเปิดเพลงให้ต้นไม้ฟังมาบ้างแล้ว การทดลองพบว่าหากเปิดเพลงเย็นๆ เบาๆ ต้นไม้จะโตเร็วและแข็งแรง ไม่มีโรคพืชหรือแมลงมารบกวน แต่ถ้าเปิดเพลงร้อนแรง ต้นไม้จะโตช้าและมีโรคมากกว่าต้นที่ไม่ได้ฟังเพลงเลย แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าที่ผลปรากฏออกมาเป็นเช่นนั้นเป็นเพราะเหตุใด แต่จากผลการทดลองของดร.เอะโมโตะ ก็อาจพอจะอธิบายได้ว่าเป็นเพราะผลจากพลังของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในรูปของเสียงเพลงที่เปิดให้ต้นไม้ฟัง ได้เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างรูปทรงของน้ำภายในต้นพืช และส่งผลต่อสุขภาพและการเติบโตของต้นพืชนั้นเอง
ธรรมชาติของน้ำอีกข้อหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญโตของพืช คือ การจับตัวรวมเป็นกลุ่มโมเลกุลของน้ำ โดยปกติธรรมชาติ โมเลกุลน้ำจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มโมเลกุลขนาดต่างๆ ตามแต่อิทธิพลของพลังชีวภาพด้านบวกและด้านลบในสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว น้ำที่มีพลังชีวิตมากจะรวมตัวกันน้อยหรือรวมเป็นกลุ่มโมเลกุลไม่ใหญ่ราว 6 โมเลกุล กลุ่มโมเลกุลของน้ำที่ยิ่งเล็กก็จะทำให้น้ำสามารถเคลื่อนผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ยิ่งดี แต่หากน้ำได้รับอิทธิพลของพลังชีวภาพด้านลบมากหรือนานเกินไปจะมีโครงสร้างกลุ่มโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น ตัวอย่างเช่น น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาดจะจับตัวเป็นกลุ่มละราว 6 โมเลกุล น้ำประปาโดยทั่วไปจะจับตัวเป็นกลุ่มละประมาณ 14 โมเลกุล แต่เมื่อน้ำได้รับพลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้น น้ำจะปรับการจับตัวรวมเป็นใหญ่ขึ้นจนถึงกลุ่มละ 30 โมเลกุล ซึ่งทำให้ผ่านเข้าออกเซลล์ได้ยากขึ้น เป็นผลให้นำแร่ธาตุสารอาหารต่างๆ เข้าไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถนำของเสียจากภายในเซลล์ออกมาทิ้งภายนอกได้โดยสะดวก เกิดการหมักหมมและเป็นพิษอยู่ภายใน ทำให้เซลล์อ่อนแอลงและเสื่อมคุณภาพ เป็นผลให้ภูมิคุ้มกันเชื้อโรคบกพร่อง และเกิดโรคต่างๆ ตามมา
ดังนั้น การเข้าใจการทำงานของพลังชีวภาพในธรรมชาติตามนัยยะนี้ ก็จะทำให้เรามองความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติรอบตัวเราในมิติของความเป็นองค์รวมของสรรพสิ่งได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถปรับวิธีทำการทำเกษตรให้สอดคล้องกับธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น โดยออกแบบการจัดการและเปลี่ยนวิธีการดูแลพื้นที่แปลงเพาะปลูกให้เอื้อกับการทำงานของธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพเปี่ยมด้วยพลังขีวิตอย่างแท้จริง
และนี้เป็นความหมายที่แท้จริงของระบบการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ ที่คำนึงถึงพลังชีวิตที่มองไม่เห็นในธรรมชาติซึ่งสามารถให้ผลที่มากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป ทั้งผลในด้านคุณภาพของดินหรืออาหารของพืช คุณภาพของผลผลิตการเกษตรหรืออาหารสำหรับคนและสัตว์ และคุณภาพของสิ่งแวดล้อมหรืออาหารสำหรับระบบนิเวศของโลก
เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ
เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ (Bio-Energetic Organic Agriculture) เป็นระบบเกษตรกรรมที่รวบรวมผสมผสานภูมิปัญญาวิธีทำการเกษตรของคนยุคโบราณ รวมทั้งหลักการแนวคิดและวิธีการที่เป็นข้อดีของระบบเกษตรกรรมทางเลือกและเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพจากทั่วโลก เข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการที่เป็นระบบของยุคปัจจุบัน ด้วยความเข้าใจวิถีของธรรมชาติ โดยมองว่าทุกสิ่งในธรรมชาติมีความเกี่ยวโยงเป็นหนึ่งเดียว หัวใจของเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมือนระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างของดินด้วยกระบวนการธรรมชาติ เพื่อให้ดินมีคุณภาพดีเหมือนดินในป่าธรรมชาติ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตทั้งใต้ดินและบนดิน ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรง ต้านทานโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ดี ให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบของธรรมชาติที่มีผลต่อการเติบโตของพืช ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น เช่น สภาพภูมิอากาศ แรงดึงดูดของโลกและดวงดาวบนท้องฟ้า พลังงานจากธรรมชาติ เช่น จากสนามแม่เหล็กโลก เป็นต้น และพลังที่ผิดธรรมชาติ เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นต้น ซึ่งล้วนมีผลต่อผลผลิตทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ
เทคนิควิธีการที่นำมาผสมผสานรวมไว้ในระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ เพื่อการฟื้นฟูบำรุงดินและเพิ่มประสิทธิผลการผลิต รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง แนวทางตามหลักวิธีของระบบเกษตรชีวภาพแบบมีพลวัต (Bio-Dynamic) ระบบชีวภาพเข้มข้น (Bio-Intensive) ระบบเกษตรกรรมเข้มข้นของฝรั่งเศส (French Intensive Farming) และระบบเกษตรกรรมถาวร (Permaculture) ระบบเกษตรธรรมชาติแบบญี่ปุ่น (Japanese Natural Farming) ทั้งตามแบบของคุณลุงมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ และแบบของท่านโมกิจิ โอกาดะ หรือแบบเอ็มโอเอ (MOA) และคิวเซ ตลอดจนระบบเกษตรธรรมชาติแบบเกาหลี (Korean Natural Farming) ของคุณลุงโช รวมทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยโบราณ และของปราชญ์ชาวบ้านเกษตรกรไทยยุคใหม่ โดยเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมของดินให้เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับพืชและระบบนิเวศ ตลอดจนการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำการเพาะปลูก
นอกจากนี้ยังรวมเทคโนโลยีชีงภาพอย่างการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการเกษตร (Vermiculture) และการใช้ถ่านชีวภาพ (BioChar) ซึ่งเป็นผลผลิตของการอบอินทรีย์วัตถุด้วยความร้อนต่ำและอ๊อกซิเจนต่ำ (pyrolisis) ซึ่งทำให้ได้ถ่านชีวภาพที่มีสารประกอบคาร์บอนเหลืออยู่ในเนื้อถ่านสูง ถ่านที่ได้มีโครงสร้างที่เป็นรูพรุน สามารถกักเก็บน้ำได้ดี และเป็นที่อยู่อย่างดีของจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตร รวมทั้งยังสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนกลับมาเก็บไว้ในดินได้มากกว่าทีปล่อยออกไป (carbon negative technology) และยังรวมถึงการใช้พลังธรรมชาติลักษณะต่างๆ เพื่อเสริมช่วยการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิต และรักษาสมดุลของระบบนิเวศของธรรมชาติ เช่น การใช้ประโยชน์จากระดับความอ่อนเข้มของแสงอาทิตย์ การใช้ประโยชน์จากแรงดึงดูดของโลกและดวงจันทร์ช่วยเสริมการเติบโตของพืช การใช้พลังสนามแม่เหล็กและคลื่นพลังชีวิตเพื่อปรับรูปทรงของผลึกน้ำที่ใช้ และการป้องกันพลังด้านลบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อพืช ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเข้าใจหลักการทำงานพื้นฐานของพลังธรรมชาติเหล่านี้แล้ว จะสามารถปรับใช้พลังธรรมชาติเหล่านี้ด้วยเทคนิคต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับประเภทของพืชและในทุกสภาพแวดล้อม จึงทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนแบบองค์รวมที่มีพลวัตสูง ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยในการบริโภค มีแร่ธาตุสารอาหารและพลังชีวิตที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน และในปริมาณที่สูงกว่าระบบเกษตรกรรมเคมี รวมทั้งยังเปิดกว้างที่จะเรียนรู้และบูรณาการวิธีการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาเพิ่มประสิทธิผลของระบบอยู่เสมอ
ดังนั้นความจริงแล้วระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นระบบเกษตรกรรมที่พึ่งพิงกระบวนการทางชีวภาพของธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนยุคก่อนในการรักษาความยั่งยืนในการผลิตอาหาร ที่สามารถพบได้ในทุกอารยธรรมโบราณทั่วโลก เป็นวิธีการที่ใช้กันมาแล้วเมื่อ 5,000 ปีก่อนในเอธิโอเปีย 4,000 ปีในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย 2,000 ปีในกรีซ 1,000 ปีในวัฒนธรรมชาวมายา และ 300 ปีในยุโรป เป็นต้น วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ง่าย ตั้งอยู่บนความเข้าใจกระบวนการและสมดุลของธรรมชาติอย่างลึกซึ้งแท้จริง ซึ่งให้ผลผลิตดีแบบยั่งยืน และเป็นระบบจัดการไร่และสวนแบบองค์รวมตามแบบธรรมชาติ ซึ่งทำให้…
- เป็นระบบการผลิตอาหารที่ครบวงจรอย่างสมบูรณ์ ใช้เพียงแรงคนและเครื่องมือทำสวนอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องพึ่งเครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเทคโนโลยีราคาแพง ไม่มีการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร จึงลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลในกระบวนการผลิตลงได้ถึงร้อยละ 95-994 ไม่ต้องใช้การวิจัยในห้องทดลองเพื่อปรับเปลี่ยนควบคุมธรรมชาติซึ่งอาจมีผลพวงที่คาดเดาไม่ถึงในภายหลัง ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมเกษรตามธรรมชาติ จึงเป็นระบบเกษตรกรรมที่ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถทำได้ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย
- ใช้วิธีการปลูกพืชที่หนาแน่นชิดกัน ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง สามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้มากกว่าเกษตรเคมีถึง 2-4 เท่าตัว เพราะดินที่มีการจัดการอย่างถูกหลักจะสามารถปลูกพืชต่อพื้นที่ได้มากกว่าถึง 4 เท่า และในระยะยาวจะสามารถให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเป็น 6-12 เท่า เมื่อมีการจัดการดินจนมีความอุดมสมบูรณ์เหมือนดินในป่าตามธรรมชาติ จึงทำให้ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยลง โดยสามารถใช้ที่ดินเพียง 80 ตร.ว. ปลูกพืชพอเลี้ยงคน 1 คนได้ตลอดปีในระบบปิดที่ไม่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากภายนอกเลย5
- ใช้การขุดพรวนดินลึกเป็นสองเท่าของเกษตรเคมี เพื่อร่นระยะเวลาการพัฒนาดินให้เร็วกว่ากระบวนการธรรมชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกพืช มีระบบการปลูกพืชเพื่อใช้ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง และในระยะแรกใส่เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ในดินเพียงเล็กน้อยเพื่อปรับสมดุลของสารอาหารพืชในดิน ในระยะต่อๆ ไปสามารถลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึงร้อยละ 50-100 ลดวัชพืชลงได้กว่าร้อยละ 50 และใช้น้ำเพียงร้อยละ 12-33 ของการทำเกษตรแบบเคมี6 ทำให้สามารถลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากภายนอกได้โดยสิ้นเชิง
- การปลูกพืชแน่นชิดกันสามารถช่วยรักษาความชื้นในดินได้ดี โดยปกติพืชที่ปลูกในดินอุดมที่มีสารอินทรีย์สูง จะทนแล้งและทนน้ำท่วมได้ดีกว่าพืชที่ปลูกแบบเกษตรเคมี จึงสามารถลดการพึ่งพิงน้ำซึ่งจะขาดแคลนมากยิ่งขึ้นในฤดูแล้ง และทนต่อภัยน้ำท่วมที่จะเกิดมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเพราะภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าพืชที่ปลูกด้วยระบบเกษตรกรรมแบบอื่น
- สามารถปรับเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้เร็วกว่ากระบวนการธรรมชาติถึง 60 เท่า7 สามารถเพิ่มหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อทุก 1 กิโลกรัมของอาหารที่เรารับประทาน จึงลดเวลาการปรับเปลี่ยนสภาพดินเสื่อม ดินเสีย และดินตายจากการทำเกษตรเคมี ให้สามารถให้ผลผลิตเทียบเคียงกับเกษตรเคมีจาก 3-7 ปีเหลือเพียง 1-2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินก่อนเริ่มการปรับเปลี่ยน
- ผลผลิตมีปริมาณแร่ธาตุสารอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้นกว่าผลผลิตจากเกษตรเคมี สารอาหารบางชนิดสูงกว่าเป็นร้อยหรือเป็นพันเท่าตัว8 และเปี่ยมด้วยพลังชีวิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ จึงสามารถลดปัญหาด้านสุขภาพของทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของประเทศลงได้อย่างมาก
- ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเพื่อขยายที่ทำกิน เพราะความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกลดลง ทำให้มีป่าเหลือและมีที่ดินเพื่อปลูกป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและรายได้เสริมของชุมชน รวมทั้งมีต้นไม้ใหญ่ในป่ามากขึ้นเพื่อดูดซับก๊าซ CO2
ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และเพิ่มก๊าซ O2 ให้กับโลกได้ - เพิ่มความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของดิน เพราะดินที่อุดมสมบูรณ์จากการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์มีประโยชน์จำนวนมหาศาล จุลินทรีย์เหล่านี้นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ จากดิน ทั้ง คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ไนไตรท์ออกไซด์ (N2O) และ มีเทน (CH4) แล้ว ยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กลับมาเก็บไว้ในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ประมาณว่าดินที่มีอยู่ทั่วโลกสามารถดูดคาร์บอนจากอากาศได้ถึง 1,000 ล้านตันต่อปี9
- เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้สิ่งแวดล้อม
ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจึงเป็นวิธีทำการเกษตรยั่งยืนแบบองค์รวมที่ครบวงจรในตัวเอง ซึ่งหากทำแบบเต็มรูปไประยะเวลาหนึ่งแล้วจะสามารถเป็นระบบปิดที่ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเลย และนอกจากจะลดต้นทุนการผลิตต่อพื้นที่ลงแล้ว ยังเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างเสริมสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนทำให้ประเทศมีหลักประกันความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร จึงสามารถเป็นต้นแบบของคำตอบและให้ทางออกสำหรับปัญหาทั้งหมดของเกษตรกรไทย และเกษตรกรรายย่อยในโลกได้ อีกทั้งยังอาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่มนุษย์เรามีอยู่ในขณะนี้ สำหรับต่อสู่กับปัญหาและผลพวงทั้งหลายของวิกฤตภาวะโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งยังเป็นวิธีการทำเกษตรที่สร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศธรรมชาติ เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อเนื่องต่างๆ ตามมาอย่างมหาศาลอีกด้วย
?โลกของเรา…ยังเผชิญกับความท้าทายพื้นฐานในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร…ความก้าวหน้าอย่างมากด้านเทคโนโลยีในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยให้ความอดอยากและยากจนในประเทศกำลังพัฒนาลดลงมากนัก… คนส่วนใหญ่ที่อดอยากต่อเนื่องเป็นเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา…?
— UNEP-UNCTAD: เกษตรกรรมอินทรีย์และความมั่นคงด้านอาหารในอัฟริกา
รวบรวมและเรียบเรียง ? ทัศนีย์ เศรษฐ์บุญสร้าง
tatsanee@NawaChiOne.org
? สงวนลิขสิทธิ์
อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาที่ไม่เป็นธุรกิจ แต่ขอให้อ้างอิงแหล่งที่มาด้วย
????????????????????????????????
เชิงอรรถ
1ธาตุอาหารจำเป็นสำหรับพืชประกอบที่เข้าใจกันทั่วไป ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลักคือ
- ธาตุอาหารหลัก 3 ชนิดที่ขาดไม่ได้ในปุ๋ยเคมี ได้แก่ ไนโตรเจน-N, ฟอสฟอรัส-P, และโพแทสเซียม-K
- ธาตุอาหารรอง 3-4 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม-Ca, แมกนีเซียม-Mg, กำมะถัน-S, และบางค่ายรวม ซิลิคอน-Si ด้วย
- ธาตุอาหารเสริมหรือจุลสารอีก 7-10 ชนิด ได้แก่ แมงกานีส-Mn, เหล็ก-Fe, สังกะสี-Zn, ทองแดง-Cu, โมลิบดีนัม-Mo, โบรอน-B, คลอรีน-Cl, และบางค่ายรวม นิเกิล-Ni, เซเลเนียม-Se, และโซเดียม-Na และ
- ธาตุอาหารจากอากาศอีก 3 ชนิด (คอร์บอน-C, อ๊อกซิเจน-O, ไฮโดรเจน-H)
2 Arden Andersen, Let Food Be Your Medicine: Why Full Nutrition Is Better Than Drugs ? Interview, ACRES USA.
3 น้ำ (H2O) มีความอ่อนไหวต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นพิเศษเพราะในนิวเคลียสของอ๊อกซิเจนอะตอม (O) มีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า คือไม่มีปฎิกิริยาต่อแม่เหล็ก จึงไม่ตอบสนองต่อแรงแม่เหล็กภายนอก เป็นผลให้โปรตอนตัวเดียวในนิวเคลียสของไฮโดนเจนอะตอม (H) ที่มีอยู่ถึง 2 ตัวในโมเลกุลของน้ำ สามารถคล้อยตามแรงแม่เหล็กภายนอกได้อย่างง่ายดาย
4 Standford University?s study
5 Ecology Action?s study in Africa and a confirmation testing by Biosphere II in Arizona
6 John Jeavons (2002), ibid.
7 Contex Institute, ?Bio-Intensive Mini-Gardens-Recipe for Survival?, www.organicconsumers.org/articles/article_3659.cfm
8 Rutgers University?s study
9 SciDAC Review, Scientific Discovery through Advance Computing, www.scidacreview.org/0903/html/edwards.html