ทฤษฎี การแพทย์จีน เชื่อว่ายิน-หยางจะควบคุม และเป็นส่วนประกอบของสรรพสิ่งในจักรวาลแล้ว สรรพสิ่งยังประกอบด้วยธาตุทั้งห้า คือ ไม้ ไฟ ดิน ทอง และน้ำ มนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล จึงมีลักษณะของธาตุทั้งห้านี้อยู่ในร่างกายอย่างมีกฎเกณฑ์แน่นอน โดยไม้แทนอวัยวะตับ ไฟแทนหัวใจ ดินแทนม้าม ทองแทนปอด และน้ำแทนไต
ลักษณะของธาตุทั้งห้านี้จะมีความสัมพันธ์ที่แน่นอน คือ การสร้าง และการข่ม
โดยวงกลมสีเขียวแทนไม้หรือตับ สีแดงแทนไฟหรือหัวใจ สีเหลืองแทนดินหรือม้าม สีขาวแทนทองหรือปอด และสีดำแทนน้ำหรือไต เช่น ตับเป็นผู้สร้างหัวใจ ขณะเดียวกันก็คอยข่มม้ามไว้ นี่คือสภาพปกติในร่างกายคนที่แข็งแรง ร่างกายเกิดโรคขึ้นมา เนื่องจากความสมดุลนี้ถูกทำลายลง โดยจะเกิดสภาวะการข่มเกินและข่มกลับขึ้น เช่น ถ้าเกิดโรคกับตับ จะทำให้พลังตับแกร่งเกินไป ตับจะกลายเป็นข่มดินมากขึ้น และจะย้อนกลับไปข่มปอดแทน
ทางแพทย์แผนจีนนั้น ลมปราณเดินทั่วร่างกายได้อย่างปกตินั้น อาศัยพลังของตับเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอารมณ์ที่แปรปรวนหรือไม่สบอารมณ์ขึ้น จะทำให้ลมปราณเดินไม่สะดวก ส่งผลโดยตรงถึงตับ เป็นเหตุให้เกิดโรคขึ้นมา และเนื่องจากระหว่างอวัยวะต่างๆ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่ การไม่สบอารมณ์จึงมีผลเกิดโรคไปได้ทั่วทั้งร่างกายขึ้นอยู่กับสภาวะปัจจัยของแต่ละอวัยวะในช่วงนั้นๆ
เมื่อไม่สบอารมณ์แรกสุด อาการที่จะเกิดคือ ลมปราณตับติดขัด
ลมปราณตับติดขัด (เดินไม่สะดวก ) มีอาการ เจ็บสีข้าง แถวราวนม แน่นหน้าอก (เพราะเส้นลมปราณตับนั้นวิ่งผ่านราวนมทั้งสองข้าง) หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ชอบถอนหายใจ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน เป็นต้น (เป็นกลุ่มอาการพื้นฐานตับ) นอกจากนี้ลมปราณตับติดขัดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มักทำให้โรคอื่นๆที่มีอยู่แต่เดิมกำเริบขึ้น ด้วย เมื่อลมปราณตับติดขัดนาน และไม่ได้รับการรักษา เริ่มเกิดไฟตับเผาผลาญขึ้น
ไฟตับเผาผลาญขึ้นบน จะมีกลุ่มอาการพื้นฐานตับที่ได้กล่าวมาแล้ว และเพิ่มอาการหน้าแดง ตาแดง ปากขม หิวน้ำ ปวดหัวมึนหัว หูอื้อ (เคยไหมครับโกรธจนหูอื้อ) โกรธง่ายกว่าเดิม ขี้หงุดหงิด นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ฝันเยอะ ท้องผูก เป็นต้น เมื่อไฟ (หยาง) ตับติดขึ้นมาแล้ว ทีนี้ก็จะเริ่มเผาผลาญพลังกลุ่มยินไป อธิบายให้เห็นภาพก็คือ เหมือนเราตั้งไฟเริ่มต้มเคี่ยวของเหลว ของเหลวในที่นี้ก็คือเลือด เคยต้มน้ำกันใช่ไหม พอเราต้มไปเรื่อยๆ น้ำก็จะระเหยหายไปหมด นี่คืออาการถัดไป (เลือดตับไม่พอ)
เลือดตับไม่พอ จะมีกลุ่มอาการพื้นฐานตับที่ได้กล่าวมาแล้ว และเพิ่มอาการตาแห้ง มองไม่ค่อยชัด มองไม่ค่อยเห็น กลางคืนนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ฝันเยอะ ความจำสั้น เวียนหัว หน้ามืดตาลาย อาการเกิดจากเลือดไม่พอ ที่เห็นชัดจากภายนอก คือหน้าซีดไม่มีสีเลือด ริมฝีปากซีด เล็บซีด ในผู้หญิงจะชัดตรงที่ประจำเดือนมาน้อย มาช้า สีจาง โดยปกติยิน และหยางจะเสมอกัน เพื่อรักษาความสมดุลไว้ เมื่อยินที่ตับไม่พอ ยินที่ไตจะพร่องตามไปด้วย (เพราะที่สุดของยิน และหยางในร่างกายรวมอยู่ที่ไต) ยินไม่สามารถข่มหยางได้อีกต่อไป หยางที่ตับจะเริ่มอาละวาด เราเรียกว่า พลังตับหยางขึ้นบน
พลังตับหยางขึ้นบน โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในจำพวกนี้ จะมีกลุ่มอาการพื้นฐานตับ ลักษณะอาการคล้ายไฟตับขึ้นบน แต่อาการจะหนักกว่า แล้วเพิ่มอาการยินที่ไตไม่พอ (โรคความดันสูงไม่จำเป็นต้องมีเสมอไป) คือ เมื่อยเอวเมื่อยเข่า ขาไม่มีแรง ช่วงบ่ายตัวจะร้อนๆ โหนกแก้มจะแดง ตอนนอนหลับเหงื่อจะออก ตื่นมาเหงื่อจะหยุดเอง (ประมาณว่าหลับแล้วตื่นมาตัวโชกเหงื่อ) เป็นต้น ถ้ายังไม่รักษา ปล่อยให้มาถึงขั้นนี้ ก็อันตรายมาก เพราะเมื่อพลังตับหยางขึ้นบนมาก จะเริ่มเกิดลม (หลักเดียวกับบอลลูนที่จุดไฟ แล้วจะมีการไล่อากาศเกิดขึ้น ทำให้บอลลูนลอยได้ เพราะลักษณะของหยางคือร้อน) เราเรียกว่าลมตับภายใน
ลมตับภายในเคลื่อนไหว อาการที่จะเกิดขึ้นคือ อัมพฤกษ์ อัมพาต กล่าวคือ จู่ๆ ก็หมดสติ สลบไป หรืออาจจะไม่สลบก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ ไม่สามารถบังคับร่างกายได้ แขนขาครึ่งลำตัวชา ปากตาเบี้ยว พูดจาไม่ชัด
ที่กล่าวมาข้างบนนี้คืออาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะตับเพียงอย่างเดียว (อาการเหล่านี้ยังไม่ได้ครอบคลุมโรคที่เกิดขึ้นกับตับทั้งหมด เป็นเพียงเส้นทางหลักที่อารมณ์แปรปรวนจะพัฒนามาได้)
อาการผิดปกติที่ตับสามารถลามไปถึงอวัยวะอื่นได้ยังไงบ้าง “ลักษณะของธาตุทั้งห้านี้จะมีความสัมพันธ์ที่แน่นอน คือการสร้างและการข่ม ตามรูปคือการสร้าง และการข่ม โดยวงกลมสีเขียวแทนไม้หรือตับ สีแดงแทนไฟหรือหัวใจ สีเหลืองแทนดินหรือม้าม สีขาวแทนทองหรือปอด และสีดำแทนน้ำหรือไต ยกตัวอย่าเช่น ตับเป็นผู้สร้างหัวใจ ขณะเดียวกันก็คอยข่มม้ามไว้ นี่คือสภาพปกติในร่างกายคนที่แข็งแรง”
ตับกับม้าม ม้ามของแพทย์จีนไม่ควรเรียกเป็นอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง แต่ควรบอกว่าเป็นระบบการย่อยอาหารทั้งระบบ คือการย่อย การดูดซึม และส่งสารอาหารไปเลี้ยงทั่วทั้งร่างกายล้วนเป็นหน้าที่ของม้ามทั้งสิ้น ในหลักตับคอยข่มม้ามอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อตับเกิดโรคขึ้น อวัยวะแรกสุดที่จะโดนลามไปถึงคือม้าม อาการสังเกตได้ง่ายมาก เวลาไม่สบอารมณ์จึงไม่อยากกินอะไร บางครั้งเครียดจนปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาจ ถึงขั้นไม่มีแรง ไม่อยากพูด อาการเหล่านี้ล้วนแล้วมาจากอารมณ์แปรปรวนลามไปถึงม้ามทั้งสิ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น
ตับกับหัวใจ ในหลักตับนั้นให้กำเนิดหัวใจ เนื่องด้วยอวัยวะทั้งสองต่างก็มีหน้าที่ควบคุมในส่วนของจิตวิญญาณความคิด ความอ่าน ระบบประสาท เพราะฉะนั้นอาการที่เกิดขึ้น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย อีกทั้งการใช้ความคิดมากๆ จะทำให้เลือดของหัวใจพร่อง จะเกิดอาการใจสั่น ใจเต้นเร็ว ขึ้นด้วย
ตับกับปอด ปอดเป็นตัวกำหนดลมปราณ ส่วนตับเป็นตัวคุมลมปราณให้เดินสะดวก เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดโรคกับตับ ปอดจะเกิดโรคตามไปด้วย ในหลักคือ พลังตับข่มกลับพลังปอด จะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หอบหืด เกิดขึ้น
ตับกับไต พลังยินของไตและตับพร่อง เลือดตับไม่พอ แค่ไม่สบอารมณ์ ก็สามารถทำให้เราเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตกันได้ และจากกลุ่มอาการพื้นฐานของตับจะเห็นว่าอารมณ์แปรปรวนทำให้หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ซึ่งมันจะยิ่งทำให้อารมณ์แปรปรวนหนักเข้าไปอีก กลายเป็นวงจรอุบาทว์
สภาพสังคมที่ซับซ้อน ชีวิตจึงมีมิติเพิ่มขึ้น หลายครั้งเราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างท้าทาย และหลายๆ สถานการณ์ก็เกินความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ทำให้จิตใจของเราเกิดแปรปรวนไม่สบอารมณ์
แต่ต้องยอมรับว่า สรรพสิ่งมันอยู่ในสถานะแห่งการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ดีและน่าพึงพอใจวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งเลวและน่ารังเกียจก็ได้ สิ่งซึ่งเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ อาจเป็นไปได้ในวันพรุ่งนี้ ผู้รู้ที่แท้จะพิจารณาปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งด้านบวกและลบ ไม่ติดยึดด้านใดด้านหนึ่ง ต้องรู้ความจริงทั้งสองด้าน โดยมีสติเป็นตัวรู้ อย่าเอาอารมณ์มาเป็นตัวรู้ สุขภาพจะได้สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรค (คำพระท่านว่า สติมาปัญญาเกิด)
ปราถนาดี จากบ้านสบาย กู่ วุฒิ (1 ธ.ค.51)